Thursday, March 28, 2013

อาตาปี สัมปชาโน สติมา

     ท่านที่อ่านพระไตรปิฎก คงจะได้พบข้อความ "อาตาปี สัมปชาโน สติมา" หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ" กระจายอยู่หลายแห่งหลายที่ โดยเฉพาะใน มหาสติปัฏฐานสูตร ดังข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็น กายในกาย (เวทนาในเวทนา / จิตในจิต / ธรรมในธรรม) อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

สัมปชาโน ท่านแปลว่า มีสัมปชัญญะ ในที่นี้คืออะไร เหมือนกันหรือไม่ กับคำว่า สัมปชัญญะ ในมหาสติปัฏฐาน หมวดกายานุปัสสนา สัมปชัญญบรรพ ที่ว่า

"ความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้"     

เย็นวันหนึ่งระหว่างขับรถทางไกล ผมเปิดวิทยุทหารอากาศ AM 945 kHz ฟังแนวทางเจริญวิปัสสนา(ชุดเทปวิทยุ) ครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ หัวข้อธรรมในวันนั้นเกี่ยวกับ "ปัญญา" มีข้อความที่แก้ความสงสัยในเรื่องความหมายของ สัมปชาโน ดังกล่าวข้างต้น ที่มีมานาน ผมจอดรถ จดข้อความลงบนเศษกระดาษใบเสร็จร้านสะดวกซื้อ แล้วใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ ไม่ทราบว่า อยู่ในนั้นนานแค่ไหนแล้ว วันนี้มีโอกาสได้เอามาดิจิไตซ์แปะไว้ที่นี่ครับ ข้อความมีว่า

"ปัญญา ชื่อ สัมปชัญญะ เพราะ รู้อนิจจัง"

ที่แท้ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ก็คือ มีความเพียร มีปัญญารู้อนิจจัง มีสติ นั่นเองครับ ซึ่งต่างกันกับคำว่า สัมปชัญญะ ที่หมายถึง ความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ฯลฯ

 
นิมิต  ชมนาวัง
28 มีนาคม 2556