Monday, January 20, 2014

จำแนกกรรมตามเวลาที่กระทำและเวลาที่ให้ผล

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เทวทูตวรรค [นิทานสูตร]

[๔๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ ประการนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมที่ถูกโลภะครอบงำ เกิดแต่โลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมที่ถูกโทสะครอบงำ เกิดแต่โทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมที่ถูกโมหะครอบงำ เกิดแต่โมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง 
เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่แตกหักเสียหาย ไม่ถูกลมแดดกระทบ มีสาระ เก็บงำไว้ดี เขาหว่านลงบนพื้นดินที่พรวนไว้ดีแล้วในไร่ที่ดี ทั้งฝนก็ตกดีตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้ทีเดียว แม้ฉันใด 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมที่ถูกโลภะครอบงำ เกิดแต่โลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อๆ ไปในปัจจุบัน
นั่นเอง กรรมที่ถูกโทสะครอบงำ ฯลฯ กรรมที่ถูกโมหะครอบงำ เกิดแต่โมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑ 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมที่ถูกอโลภะครอบงำ เกิดแต่อโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นแดนเกิด เมื่อโลภะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้เด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา 
กรรมที่ถูกอโทสะครอบงำ ฯลฯ กรรมที่ถูกอโมหะครอบงำ เกิดแต่อโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นแดนเกิด เมื่อโมหะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้เด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา 
เปรียบเหมือนบุรุษพึงเอาไฟเผาเมล็ดพืชที่ไม่แตกหักเสียหาย ยังไม่ถูกลมแดดกระทบ มีสาระถูกเก็บงำไว้ดีแล้ว ครั้นแล้วพึงทำให้เป็นเขม่า แล้วโปรยลงไปในลมพายุ หรือลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว พึงเป็นพืชถูกถอนรากขึ้น ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา แม้ฉันใด
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมที่ถูกอโลภะครอบงำ เกิดแต่อโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นแดนเกิด เมื่อโลภะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา 
กรรมที่ถูกอโทสะครอบงำ ฯลฯ กรรมที่ถูกอโมหะครอบงำ เกิดแก่อโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นแดนเกิด เมื่อโมหะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้เด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ฯ
 
ผู้รู้จักกรรมอันเกิดแต่โลภะ เกิดแต่โทสะ และเกิดแต่โมหะ เขาทำกรรมใด จะน้อยหรือมากก็ตาม เขาจะต้องเสวยผล กรรมนั้นในอัตภาพนี้แหละ วัตถุชนิดอื่นย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้รู้แจ้งความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้วิชชาบังเกิดขึ้น พึงละทุคติเสียได้ทั้งหมด ฯ

====================

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔ นิทานสูตร อรรถกถานิทานสูตรที่ ๔

พึงทราบวินิจฉัยในนิทานสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

- บทว่า นิทานานิ ได้แก่ เหตุทั้งหลาย

- บทว่า กมมานํ ได้แก่ กรรมที่ให้สัตว์ถึงวัฏฏะ

- บทว่า โลโภ นิทานํ กมฺมานํ สมุทยาย ความว่า ความโลภที่มีความอยากได้และความละโมบ เป็นสภาพ เป็นต้นเหตุ คือเป็นเหตุ. อธิบายว่า เป็นปัจจัย เพื่อการเกิดขึ้นแห่งกรรมที่ทำให้ถึงวัฏฏะ คือทำการประมวลกรรม ที่จะให้ถึงวัฏฏะมา. โทสะที่มีความดุร้ายและความประทุษร้ายเป็นสภาพ ชื่อว่าโทสะ. โมหะที่มีความหลงและความงมงายเป็นสภาพ ชื่อว่าโมหะ.

- บทว่า โลภปกตํ แปลว่า กรรมที่บุคคลทำแล้วด้วยโลภจิต. อธิบายว่า ได้แก่ กรรมที่บุคคลผู้ถูกความโลภครอบงำ เกิดละโมบแล้วทำกรรมชื่อว่า โลภชํ เพราะเกิดจากความโลภ กรรมชื่อว่า โลภนิทานํ เพราะมีความโลภเป็นต้นเหตุ กรรมชื่อว่า โลภสมุทยํ เพราะมีความโลภเป็นสมุทัย ปัจจัยชื่อว่า สมุทัย อธิบายว่า มีโลภะเป็นปัจจัย

- บทว่า ยตฺถสฺส อตฺตภาโว นิพฺพตฺตติ ความว่า ในที่ใดอัตภาพของบุคคลนั้น ผู้มีกรรมเกิดแต่ความโลภเกิดขึ้น คือขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏขึ้น

- บทว่า ตตฺถ ตํ กมมํ วิปจฺจติ ความว่า กรรมนั้นย่อมเผล็ดผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น 

- บทว่า ทิฏฺเฐ วา ธมฺเม เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงประเภทกรรมนั้น เพราะกรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (ให้ผลในชาตินี้) ก็มี เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม (ให้ผลในชาติหน้า) ก็มี หรือเป็น อปรปริยายเวทนียกรรม (ให้ผลในภพต่อๆ ไป) ก็มี แม้ในบททั้งสองที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

- บทว่า อขณฺฑานิ แปลว่า ไม่ถูกทำลาย

- บทว่า อปูตีนิ ความว่า ไม่ถึงความเป็นของไม่ใช่พืชพันธ์ เพราะเสีย

- บทว่า อวาตาตปหตานิ ความว่า ทั้งไม่ถูกลมโกรกและแดดเผา

- บทว่า สาราทานิ ความว่า มีสาระที่ถือเอาได้ คือมีสาระ ไม่ใช่ไม่มีสาระ

- บทว่า สุขสยิตานิ ความว่า อยู่อย่างปลอดภัย เพราะเก็บไว้ดี

- บทว่า สุกฺเขตเต ได้แก่ ในนาเตียน

- บทว่า สุปริกมฺมกตาย ภูมิยา ได้แก่ พื้นที่นาที่บริกรรมแล้วด้วยดี ด้วยการไถด้วยไถและด้วยคราด

- บทว่า นิกฺขิตฺตานิ ได้แก่ ปลูกไว้แล้ว

- บทว่า อนุปฺปเวจฺเฉยฺย ได้แก่ ตกเนือง ๆ

ในบทว่า วุฑฒึ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ชื่อว่าเจริญ เพราะสูงขึ้นไป ชื่อว่างอกงาม เพราะมีรากยึดมั่นอยู่เบื้องล่าง ชื่อว่าไพบูลย์ เพราะขยายออกไปโดยรอบ ก็ในสูตรนี้ คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มีอาทิว่า ทิฏเฐ วา ธมฺเม เพื่อไม่ให้ฟั่นเฟือนใน คำนั้น ในที่นี้ควรกล่าวจำแนกกรรม (ออกไป) อธิบายว่า โดยปริยายแห่งพระสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกกรรมไว้ ๑๑ อย่าง คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม ๑ อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ ยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑

               อธิบายทิฎฐธรรมเวทนียกรรม               
               บรรดากรรม ๑๑ อย่างนั้น ในบรรดา (ชวนะ) จิต ๗ ชวนะ ชวนเจตนาดวงแรกที่เป็นกุศลหรืออกุศล ในชวนวิถีแรก ชื่อว่าทิฎฐธรรมเวทนียกรรม.
               ทิฎฐกรรมเวทนียกรรมนั้น ให้วิบากในอัตภาพนี้เท่านั้นที่เป็นกุศล อำนวยวิบากในอัตภาพนี้ เหมือนกรรมของกากวฬิยเศรษฐีและปุณณกเศรษฐีเป็นต้น ส่วนที่เป็นอกุศล (อำนวยผลในอัตภาพนี้) เหมือนกรรมของนันทยักษ์ นันทมาณพ นันทโคฆาต ภิกษุโกกาลิกะ พระเจ้าสุปปพุทธะ พระเทวทัตและนางจิญจมาณวิกาเป็นต้น แต่เมื่อไม่สามารถให้ผลอย่างนั้น จะเป็นอโหสิกรรมไป คือถือความเป็นกรรมที่ไม่มีผล กรรมนั้นพึงสาธกด้วยข้อเปรียบกับพรานเนื้อ.

               อุปมาด้วยนายพรานเนื้อ               
               เปรียบเหมือนลูกศรที่นายพรานเนื้อ เห็นเนื้อแล้วโก่งธนูยิงไป ถ้าไม่พลาดก็จะทำให้เนื้อนั้นล้มลงในที่นั้นเอง.
               ลำดับนั้น นายพรานเนื้อก็จะถลกหนังเนื้อนั้นออก เฉือนให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อไปเลี้ยงลูกเมีย แต่ถ้าพลาด เนื้อจะหนีไป ไม่หันกลับมาดูทิศนั้นอีกฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น. อธิบายว่า การกลับได้วาระแห่งวิบากของทิฎฐกรรมเวทนียกรรม เหมือนกับลูกศรที่ยิงถูกเนื้อโดยไม่พลาด การกลับกลายเป็นกรรมที่ไม่มีผล เหมือนลูกศรที่ยิงพลาดฉะนั้นฉะนี้แล.

               อธิบายอุปปัชชเวทนียกรรม               
               ส่วนชวนเจตนาดวงที่ ๗ ที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ชื่อว่าอุปปัชชเวทนียกรรม. อุปปัชชเวทนีกรรมนั้นอำนวยผลในอัตภาพต่อไป แต่ในบรรดากุศลอกุศลทั้งสองฝ่ายนี้ อุปปัชชเวทนียกรรมในฝ่ายที่เป็นกุศล พึงทราบด้วยสามารถแห่งสมาบัติ ๘. ในฝ่ายที่เป็นอกุศล พึงทราบด้วยสามารถแห่งอนันตริยกรรม ๕.
               บรรดากรรมทั้งสองฝ่ายนั้น ผู้ที่ได้สมาบัติ ๘ จะเกิดในพรหมโลกด้วยสมาบัติอย่างหนึ่ง. ฝ่ายผู้กระทำอนันตริยกรรม ๕ จะบังเกิดในนรกด้วยกรรมอย่างหนึ่ง. สมาบัติที่เหลือและกรรม (ที่เหลือ) จะถึงความเป็นอโหสิกรรมไปหมด คือเป็นกรรมที่ไม่มีวิบาก. แม้ความข้อนี้พึงทราบตามข้อเปรียบเทียบข้อแรกเทอญ.

               อธิบายอปรปริยายเวทนียกรรม               
               ก็ชวนเจตนา ๕ ดวงที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งชวนะ ๒ ดวง (ชวนเจตนาดวงที่ ๑ และชวนเจตนาดวงที่ ๗) ชื่อว่าอปรปริยายเวทนียกรรม. อปรปริยายเวทนียกรรมนั้นได้โอกาสเมื่อใดในอนาคตกาล เมื่อนั้นจะให้ผล เมื่อความเป็นไปแห่งสังสารวัฎฎะยังมีอยู่ กรรมนั้นจะชื่อว่าเป็นอโนสิกรรม ย่อมไม่มี. กรรมทั้งหมดนั้นควรแสดงด้วย (เรื่อง) พรานสุนัข.
               เปรียบเหมือนสุนัขที่นายพรานเนื้อปล่อยไป เพราะเห็นเนื้อ จึงวิ่งตามเนื้อไป ทันเข้าในที่ใดก็จะกัดเอาในที่นั้นแหละฉันใด กรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โอกาสในที่ใดก็จะอำนวยผลในที่นั้นทันที. ขึ้นชื่อว่าสัตว์จะรอดพ้นไปจากกรรมนั้น เป็นไม่มี.

               อธิบายครุกกรรม               
               ส่วนในบรรดากรรมหนักและกรรมไม่หนัก ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล กรรมใดหนัก กรรมนั้นชื่อว่าครุกกรรม. ครุกกรรมนี้นั้น ในฝ่ายกุศลพึงทราบว่าได้แก่มหัคคตกรรม. ในฝ่ายอกุศลพึงทราบว่า ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕. เมื่อครุกรรมนั้นมีอยู่ กุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่เหลือจะไม่สามารถให้ผลได้. ครุกรรมแม้ทั้งสองอย่างนั้นแหละจะให้ปฏิสนธิ.
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่า ก้อนกรวดหรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้นเหนือน้ำได้ จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียวฉันใด ในกุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กรรมฝ่ายใดหนัก เขาจะถือเอากรรมฝ่ายนั้นแหละไป.

               อธิบายพหุลกรรม               
               ส่วนในกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดมาก กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม. พหุลกรรมนั้น พึงทราบด้วยอำนาจอาเสวนะที่ได้แล้วตลอดกาลนาน. อีกอย่างหนึ่ง ในฝ่ายกุศลกรรม กรรมใดที่มีกำลังสร้างโสมนัสให้ในฝ่ายอกุศลกรรม สร้างความเดือดร้อนให้ กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม.
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อนักมวยปล้ำ ๒ คนขึ้นเวที คนใดมีกำลังมาก คนนั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม (แพ้) ไปฉันใด พหุลกรรมนี้นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะทับถมกรรมพวกนี้ที่มีกำลังน้อย (ชนะ) ไป. กรรมใดมากโดยการเสพจนคุ้นหรือมีกำลังโดยอำนาจทำให้เดือนร้อนมาก กรรมนั้นจะให้ผล เหมือนกรรมของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยฉะนั้น.

               เรื่องพระเจ้าทุฎฐคามณีอภัย               
               เล่ากันมาว่า พระเจ้าทุฎฐคามณีอภัยนั้นรบพ่ายแพ้ในจูฬังคณิยยุทธ์ ทรงควบม้าหนีไป. มหาดเล็กชื่อว่าติสสอมาตย์ ของพระองค์๑- ตามเสด็จไปได้คนเดียวเท่านั้น.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ตตฺถ ฉบับพม่าเป็น ตสฺส แปลตามฉบับพม่า.

               ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ดงแห่งหนึ่ง ประทับนั่งแล้ว เมื่อถูกความหิวเบียดเบียน จึงรับสั่งว่า พี่ติสสะ เราสองคนหิวเหลือเกิน จะทำอย่างไร? มีอาหารพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้นำพระกระยาหารใส่ขันทองใบหนึ่ง ซ่อนไว้ในระหว่างผ้าสาฎกมาด้วยพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น จงนำมา. เขาจึงนำพระกระยาหารออกมาวางตรงพระพักตร์พระราชา. ท้าวเธอทรงเห็นแล้วตรัสสั่งว่า จงแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ซิพ่อคุณ. เขาทูลถามว่า พวกเรามี ๓ คน เหตุไฉน พระองค์จึงให้จัดเป็น ๔ ส่วน. พี่ติสสะ เวลาที่เรานึกถึงตัว เราไม่เคยบริโภคอาหารที่ยังไม่ได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าก่อนเลย ถึงวันนี้ เราก็จักไม่ยอมบริโภค โดยยังไม่ได้ถวายอาหารแก่พระผู้เป็นเจ้า. เขาจึงจัดแบ่งอาหารออกเป็น ๔ ส่วน. พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านจงประกาศเวลา. ในป่าร้าง เราจักได้พระคุณเจ้าที่ไหน พระเจ้าข้า. ข้อนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ถ้าศรัทธาของเรายังมี เราจักได้พระคุณเจ้าเอง ท่านจงวางใจแล้วประกาศเวลาเถิด. เขาจึงประกาศถึง ๓ ครั้งว่า ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า.
               ลำดับนั้น พระโพธิยมาลกมหาติสสเถระได้ยินเสียงนั้นด้วยทิพยโสตธาตุ รำพึงว่า เสียงนี้ที่ไหน? จึงรู้ว่า วันนี้พระเจ้าทุฎฐคามณีอภัยแพ้สงคราม เสด็จเข้าสู่ดงดิบ ประทับนั่งแล้วให้แบ่งข้าวขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน ทรงรำพึงว่า เราจักบริโภคเพียงส่วนเดียว จึงให้ประกาศเวลา (ภัตร) คิดว่า วันนี้ เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา แล้วมาโดยมโนคติ ได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชา.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งว่า เห็นไหมเล่า พี่ติสสะ ดังนี้ ไหว้พระเถระแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร. พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงเทอาหารส่วนของพระเถระ พร้อมกับส่วนของพระองค์ลงในบาตรแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าความลำบากด้วยอาหาร จงอย่ามีในกาลไหนๆ ทรงไหว้แล้วประทับยืนอยู่.
               ฝ่ายติสสอมาตย์คิดว่า เมื่อพระลูกเจ้าของเราทอดพระเนตรอยู่ เราจักไม่สามารถบริโภคได้ จึงได้เทส่วนของตนลงไปในบาตรพระเถระเหมือนกัน. ถึงม้าก็คิดว่า ถึงเราก็ควรถวายส่วนของเราแก่พระเถระ. พระราชาทอดพระเนตรดูม้าแล้วทรงทราบว่า ถึงม้านี้ก็ประสงค์จะใส่ส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระเหมือนกัน จึงได้เทส่วนแม้นั้นลงในบาตรนั้นเหมือนกัน ไหว้แล้วส่งพระเถระไป. พระเถระถือเอาภัตรนั้นไปแล้วได้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ต้น โดยแบ่งปั้นเป็นคำๆ.
               แม้พระราชาทรงพระดำริว่า พวกเราหิวเหลือเกินแล้ว จะพึงเป็นการดีมาก ถ้าหากพระเถระจะส่งอาหารที่เหลือมาให้. พระเถระรู้พระราชดำริของพระราชาแล้ว จึงทำภัตรที่เหลือให้พอเพียงแก่คนเหล่านั้น จะดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรมาวางอยู่ที่พระหัตถ์ของพระราชาแล้ว. แม้อาหารก็พอที่คนทั้ง ๓ จะดำรงชีพอยู่ได้.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงล้างบาตรแล้ว ทรงดำริว่าเราจักไม่ส่งบาตรเปล่าไป จึงทรงเปลื้องพระภูษาชุบน้ำแล้ววางผ้าไว้ในบาตร ทรงอธิษฐานว่า ขอบาตรจงประดิษฐานอยู่ในมือแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา แล้วทรงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรไปประดิษฐานอยู่ในมือของพระเถระแล้ว.
               ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชาให้ทรงสร้างมหาเจดีย์สูง ๑๒๐ ศอกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ ๘ แห่งพระตถาคตเจ้าไว้ เมื่อพระเจดีย์ยังไม่ทันเสร็จ ก็ได้เวลาใกล้สวรรคต. ลำดับนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์สาธยายโดยนิกายทั้ง ๕ ถวายพระองค์ผู้บรรทมอยู่ข้างด้านทิศใต้แห่งมหาเจดีย์ รถ ๖ คันจากเทวโลก ๖ ชั้นจอดเรียงรายอยู่ในอากาศ เบื้องพระพักตร์ของพระราชา. พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงนำสมุดบันทึกการทำบุญมา แล้วรับสั่งให้อ่านสมุดนั้นมาแต่ต้น. ครั้นไม่มีกรรมอะไรที่จะให้พระองค์ประทับพระทัยจึงตรัสสั่งว่า จงอ่านต่อไปอีก.
               คนอ่านอ่านต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ๒- พระองค์ผู้ปราชัยในจุลลังคณิยยุทธสงคราม เสด็จเข้าดง ประทับนั่งถวายภิกษาแก่ท่านพระโพธิมาลกมหาติสสเถระ โดยทรงแบ่งพระกระยาหารขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน.
____________________________
๒- ปาฐะว่า ตเทว ฉบับพม่าเป็น เต เทว แปลตามฉบับพม่า.

               พระราชารับสั่งให้หยุดอ่านแล้วซักถามภิกษุสงฆ์ว่า พระคุณเจ้าข้า เทวโลกชั้นไหนเป็นรมณียสถาน. ภิกษุสงฆ์ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ดุสิตพิภพเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์. พระราชาสวรรคตแล้ว ประทับนั่งบนราชรถที่มาแล้วจากดุสิตพิภพนั่นแหละได้เสด็จถึงดุสิตพิภพแล้ว.
               นี้เป็นเรื่อง (แสดงให้เห็น) ในการให้วิบากของกรรมที่มีกำลัง.

               อธิบายยทาสันนกรรม               
               ส่วนในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดสามารถเพื่อจะให้ระลึกถึงในเวลาใกล้ตาย กรรมนั้น ชื่อว่ายทาสันนกรรม.๑-
____________________________
๑- คำว่า ยทาสันนกรรม ก็คืออาสันนกรรม

               ยทาสันนกรรมนั่นแหละ เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็ให้ผล (ก่อน) เพราะอยู่ใกล้มรณกาล เหมือนเมื่อเปิดประตูคอกที่มีฝูงโคเต็มคอก บรรดาโคฝึกและโคมีกำลัง ถึงจะอยู่ในส่วนอื่นๆ (ไกลปากคอก) โคตัวใดอยู่ใกล้ประตูคอก โดยที่สุดจะเป็นโคแก่ ถอยกำลังก็ตาม โคตัวนั้นก็ย่อมออกได้ก่อนอยู่นั่นเองฉะนั้น.
               ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

               เรื่องคนเฝ้าประตูชาวทมิฬ               
               เล่ากันมาว่า ในบ้านมธุอังคณะ มีนายประตูชาวทมิฬคนหนึ่งถือเอาเบ็ดไปแต่เช้า ตกปลาได้แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเอาแลกข้าวสาร ส่วนหนึ่งแลกนม ส่วนหนึ่งต้มแกงกิน. โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตอยู่ถึง ๕๐ ปี ต่อมาแก่ตัวลง ล้มหมอนนอนเสื่อ.
               ในขณะนั้น พระจุลลปิณฑปาติกติสสเถระชาวคิรีวิหาร รำพึงว่า คนผู้นี้ เมื่อเรายังเห็นอยู่อย่างพินาศเสียเลย แล้วไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขา. ขณะนั้น ภริยาของเขาจึงบอกว่า นี่! พระเถระมาโปรดแล้ว เขาตอบว่า ตลอดเวลา ๕๐ ปี เราไม่เคยไปสำนักของพระเถระเลย ด้วยคุณความดีอะไรของเรา ท่านจึงต้องมา เธอจงไปนิมนต์ให้ท่านไปเสียเถิด.
               นางบอกพระเถระว่า นิมนต์ไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด เจ้าข้า.
               พระเถระถามว่า อุบาสกมีพฤติการทางร่างกายอย่างไร.
               นางตอบว่า อ่อนแรงแล้ว เจ้าข้า.
               พระเถระเข้าไปยังเรือนให้สติ แล้วกล่าวว่า โยมรับศีล (ไหม). เขาตอบว่า รับ ขอรับพระคุณเจ้า นิมนต์ให้ศีลเถิด. พระเถระให้สรณะ ๓ แล้ว เริ่มจะให้ศีล ๕. ในขณะที่อุบาสกนั้นว่า ปญฺจ สีลานิ นั่นแหละ ลิ้นแข็งเสียแล้ว. พระเถระคิดว่าเท่านี้ก็พอควร แล้วออกไป. ส่วนเขาตายแล้วไปเกิดในภพจาตุมหาราชิกะ.
               ก็ในขณะที่เขาเกิดนั้นแหละ รำลึกว่า เราทำกรรมอะไรหนอจึงได้สมบัตินี้ รู้ว่าได้เพราะอาศัยพระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระเถระถามว่า นั่นใคร. ตอบว่า กระผม (คือ) คนเฝ้าประตูชาวทมิฬครับ พระคุณเจ้า. พระเถระถามว่า ท่านไปเกิดที่ไหน. ตอบว่า ผมเกิดที่ชั้นจาตุมหาราชิกภพ ครับพระคุณเจ้า ถ้าหากพระคุณเจ้าได้ให้ศีล ๕ แล้วไซร้ ผมคงได้เกิดในชั้นสูงขึ้นไป ผมจักทำอย่างไร. พระเถระตอบว่า ดูก่อน (เทพ) บุตร ท่านไม่สามารถจะรับเอาได้เอง. เทพบุตรไหว้พระเถระแล้ว กลับไปยังเทวโลก.
               นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในกุศลกรรมก่อน.

               เรื่องมหาวาตกาลอุบาสก               
               ก็ในระหว่างแม่น้ำคงคา ได้อุบาสกชื่อว่ามหาวาตกาละ. เขาสาธยายอาการ ๓๒ เพื่อมุ่งโสดาปัตติมรรคถึง ๓๐ ปี ถึงทิฎฐิวิปลาสว่า เราสาธยายอาการ ๓๒ อยู่อย่างนี้ก็ไม่อาจให้เกิดแม้เพียงโอกาสได้ ชะรอยพระพุทธศาสนาจักไม่เป็นศาสนาเครื่องนำสัตว์ออกจากภพ (เป็นแน่) กระทำกาลกิริยาแล้วได้ไปเกิดเป็นลูกจระเข้ยาว ๙ อุสภะที่แม่น้ำมหาคงคา. คราวหนึ่ง เกวียนบรรทุกเสาหิน ๖๐ เล่มเดินทางไปตามท่ากัจฉปะ. จระเข้นั้นฮุบกินทั้งโคทั้งหินเหล่านั้น จนหมดสิ้น.
               นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในอกุศลกรรม.

               อธิบายกฎัตตาวาปนกรรม               
               ส่วนกรรมนอกเหนือจากกรรม ๓ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ทำไปโดยไม่รู้ ชื่อว่ากฏัตตาวาปนกรรม กฏัตตาวาปนกรรมนั้นอำนวยวิบากได้ในกาลบางครั้ง เพราะไม่มีกรรม ๓ อย่างเหล่านั้น เหมือนท่อนไม้๑- ที่คนบ้าขว้างไป จะตกไปในที่ๆ ไม่มีจุดหมายฉะนั้น.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ขิตฺตํ กณฺฑํ ฉบับพม่าเป็น ขิตตทณฺฑํ แปลตามฉบับพม่า.

               อธิบายชนกกรรม               
               กรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิอย่างเดียว ไม่ให้เกิดปวัตติกาล๑- กรรมอื่นย่อมให้เกิดวิบากในปวัตติกาล ชื่อว่าชนกกรรม. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า มารดาให้กำเนิดอย่างเดียว ส่วนพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมฉันใด ชนกกรรมก็เช่นนั้นเหมือนกัน ให้เกิดปฏิสนธิเหมือนมารดา. (ส่วน) กรรมที่มาประจวบเข้าในปวัตติกาล๒- เหมือนพี่เลี้ยงนางนม.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ปวตฺตํ ชเนติ ฉบับพม่าเป็น ปวตฺตึ น ชเนติ แปลตามฉบับพม่า.
๒- ปาฐะว่า ปวตฺเต ปวตฺติกํ ฉบับพม่าเป็น ปวตฺเต สปฺปตฺกมฺมํ แปลตามฉบับพม่า.

               อธิบายอุปัตถัมภกกรรม               
               ธรรมดาอุปัตถัมภกกรรมมีได้ทั้งในกุศล ทั้งในอกุศล เพราะว่า ลางคนกระทำกุศลกรรมแล้วเกิดในสุคติภพ เขาดำรงอยู่ในสุคติภพนั้นแล้วบำเพ็ญกุศลบ่อยๆ สนับสนุนกรรมนั้น ย่อมท่องเที่ยวไปในสุคติภพนั้นแหละตลอดเวลาหลายพันปี. ลางคนกระทำอกุศลกรรมแล้วเกิดในทุคติภพ เขาดำรงอยู่ในทุคตินั้น กระทำอกุศลกรรมบ่อยๆ สนับสนุนกรรมนั้นแล้ว จะท่องเที่ยวไปในทุคติภพนั้นแหละสิ้นเวลาหลายพันปี.
               อีกนัยหนึ่งควรทราบดังนี้ ทั้งกุศลกรรม ทั้งอกุศลกรรม ชื่อว่าเป็นชนกกรรม. ชนกกรรมนั้นให้เกิดวิบากขันธ์ทั้งที่เป็นรูปและอรูป ทั้งในปฏิสนธิกาล ทั้งในปวัตติกาล. ส่วนอุปัตถัมภกกรรม ไม่สามารถให้เกิดวิบากได้ แต่จะสนับสนุนสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบากที่ให้เกิดปฏิสนธิที่กรรมอื่น ให้ผลแล้ว ย่อมเป็นไปตลอดกาลนาน.
                                   

               อธิบายอุปปีฬกกรรม               
               กรรมที่เบียดเบียน บีบคั้นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบากที่ให้เกิดปฏิสนธิ กรรมอื่นให้ผลแล้ว จะไม่ให้ (สุขหรือทุกข์นั้น) เป็นไปตลอดกาลนาน ชื่อว่าอุปปีฬกกรรม.
               ในอุปปีฬกกรรมนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
               เมื่อกุศลกรรมกำลังให้ผล อกุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส) กุศลกรรมนั้นให้ผล. แม้เมื่ออกุศลกรรมนั้นกำลังให้ผลอยู่ กุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส) อกุศลกรรมนั้นให้ผล.
               ต้นไม้ กอไม้หรือเถาวัลย์ที่กำลังเจริญงอกงาม ใครคนใดคนหนึ่งเอาไม้มาทุบ หรือเอาศาสตรามาตัด เมื่อเป็นเช่นนั้น๑- ต้นไม้กอไม้หรือเถาวัลย์นั้นจะต้องไม่เจริญงอกงามขึ้นฉันใด กุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกำลังให้ผล (แต่ถูก) อกุศลกรรมเบียดเบียน หรือว่าอกุศลกรรมกำลังให้ผล (แต่ถูก) กุศลกรรมบีบคั้นจะไม่สามารถให้ผลได้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อถโข ฉบับพม่าเป็น อถ โส แปลตามฉบับพม่า.

               ในสองอย่างนั้น สำหรับนายสุนักขัตตะ อกุศลกรรม (ชื่อว่า) เบียดเบียนกุศลกรรม. สำหรับนายโจรฆาตกะ กุศลกรรม (ชื่อว่า) เบียดเบียนอกุศลกรรม.

               เรื่องเพชฌฆาตชื่อตาวกาฬกะ               
               เล่ากันว่า ในกรุงราชคฤห์ นายตาวกาฬกะกระทำโจรฆาตกรรม (ประหารชีวิตโจร) มาเป็นเวลา ๕๐ ปี. ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลายได้กราบทูลเขาต่อพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายตาวกาฬกะแก่แล้ว ไม่สามารถจะประหารชีวิตโจรได้. พระราชารับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงปลดเขาออกจากตำแหน่งนั้น. อำมาตย์ทั้งหลายปลดเขาออกแล้ว แต่งตั้งคนอื่นแทน.
               ฝ่ายนายตาวกาฬกะ ตลอดเวลาที่ทำงานนั้น (เป็นเพชฌฆาต) ไม่เคยนุ่งผ้าใหม่ ไม่ได้ทัดทรงของหอมและดอกไม้ ไม่ได้บริโภคข้าวปายาส ไม่ได้รักการอบอาบ. เขาคิดว่า เราอยู่โดยเพศของผู้เศร้าหมองมานานแล้ว จึงสั่งภรรยาให้หุงข้าวปายาส ให้นำเครื่องสัมภาระสำหรับอาบไปยังท่าน้ำ ดำเกล้าและนุ่งผ้าใหม่ ลูบไล้ของหอม ทัดดอกไม้ กำลังเดินมาบ้าน เห็นพระสารีบุตรเถระ ดีใจว่า เราจะได้พ้นจากกรรมที่เศร้าหมอง และได้พบพระผู้เป็นเจ้าของเราด้วย จึงนำพระเถระไปยังเรือน แล้วอังคาสด้วยข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใส เนยข้นและผงน้ำตาลกรวด.
               พระเถระได้อนุโมทนาทานของเขา.
               เขาได้ฟังอนุโมทนาแล้ว กลับได้อนุโลมิกขันติ ตามส่งพระเถระแล้วเดินกลับ ในระหว่างทางถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดให้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วไปเกิดในดาวดึงสพิภพ.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระตถาคตว่า พระพุทธเจ้าข้า วันนี้เอง นายโจรฆาตอันพระสารีบุตรเถระช่วยนำออกจากกรรมที่เศร้าหมอง ถึงแก่กรรมแล้วในวันนี้เหมือนกัน เขาเกิดในที่ไหนหนอ.
               พ. ในดาวดึงสพิภพ ภิกษุทั้งหลาย.
               ภิ. พระพุทธเจ้าข้า นายโจรฆาตฆ่าคนมาเป็นเวลานานและพระองค์ก็ตรัสสอนไว้อย่างนี้ บาปกรรมไม่มีผลหรืออย่างไรหนอ.
               พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวเช่นนั้น นายโจรฆาตได้กัลยาณมิตรผู้มีกำลังเป็นอุปนิสสยปัจจัย ถวายบิณฑบาตแก่พระธรรมเสนาบดี ฟังอนุโมทนากถาแล้ว กลับได้อนุโลมิกขันติ จึงได้บังเกิดในที่นั้น.
                         นายโจรฆาตได้ฟังคำเป็นสุภาษิตในเมืองแล้ว
                         ได้อนุโลมขันติบันเทิงใจ ไปเกิดในไตรเทพ.


               อธิบายอุปฆาตกกรรม               
               ส่วนอุปฆาตกกรรมที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง มีอยู่เอง จะตัดรอนกรรมอื่นที่มีกำลังเพลากว่า ห้ามวิบากของกรรมนั้นไว้แล้วทำโอกาสแก่วิบากของตน. ก็เมื่อกรรมทำ (ให้) โอกาสอย่างนี้แล้ว กรรมนั้นเรียกว่าเผล็ดผลแล้ว. อุปฆาตกกรรมนี้นั่นแหละมีชื่อว่าอุปัจเฉทกกรรมบ้าง.

               อธิบายอุปัจเฉทกกรรม               
               ในอุปัจเฉทกกรรมนั้น มีนัยดังต่อไปนี้
               ในเวลาที่กุศลกรรมให้ผล อกุศลกรรมอย่างหนึ่งจะตั้งขึ้นตัดรอนกรรมนั้นให้ตกไป ถึงในเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล กุศลกรรมอย่างหนึ่งก็จะตั้งขึ้น ตัดรอนกรรมนั้นแล้วให้ตกไป. นี้ชื่อว่าอุปัจเฉทกกรรม.
               บรรดาอุปัจเฉทกกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งสองอย่างนั้น กรรมของพระเจ้าอชาตศัตรูได้เป็นกรรมที่ตัดรอนกุศล ส่วนกรรมของพระองคุลิมาลเถระได้เป็นกรรมตัดรอนอกุศล. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นอันท่านจำแนกกรรม ๑๑ อย่างตามสุตตันติกปริยาย.

               กรรม ๑๖ อย่างตามแนวพระอภิธรรม               
               ส่วนพระอภิธรรมปริยาย ท่านจำแนกกรรมไว้ ๑๖ อย่าง คือ
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามคติสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามอุปธิสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามกาลสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามปโยคสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยคติวิบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยอุปธิวิบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยกาลวิบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยปโยควิบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามคติวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามอุปธิวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามกาลวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามปโยควิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยคติสมบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยอุปธิสมบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยกาลสมบัติ ให้ผล ๑
                         กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยปโยคสมบัติ ให้ผล ๑

               อธิบายกรรม ๑๖ อย่างตามแนวพระอภิธรรม               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาปกานิ แปลว่า ลามก.
               บทว่า กมฺมสมาทานานิ ได้แก่ การยึดถือกรรม.
               คำว่า กมฺมสมาทานานิ นี้ เป็นชื่อของกรรมทั้งหลายที่บุคคลสมาทานถือเอาแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า คติสมฺปตฺตึ ปฎิพาฬฺหานิ น วิปจฺจนฺติ เป็นต้นดังต่อไปนี้
               เมื่อกรรมที่มีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นกิจ ยังมีอยู่นั่นแหละ กรรมนั้นของสัตว์ผู้เกิดในสุคติภพ ชื่อว่าห้ามคติสมบัติไว้ ยังไม่ให้ผล. อธิบายว่า เป็นกรรมถูกคติสมบัติห้ามไว้ ยังไม่ให้ผล.
               ก็ผู้ใดเกิดในท้องของหญิงทาสี หรือหญิงกรรมกร เพราะบาปกรรม (แต่) เป็นผู้มีอุปธิสมบัติ ตั้งอยู่ในความสำเร็จ คือความงดงามแห่งอัตภาพ. ครั้นนายของเขาเห็นรูปสมบัติของเขาแล้ว เกิดความคิดว่า ผู้นี้ไม่สมควรทำงานที่ต่ำต้อย แต่งตั้งเขาไว้ในตำแหน่งภัณฑาคาริกเป็นต้น มอบสมบัติให้แล้วเลี้ยงดูอย่างลูกของตน. กรรมของคนเห็นปานนี้ ชื่อว่าห้ามอุปธิสมบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนผู้ใดเกิดในเวลาที่มีโภชนาหารหาได้ง่ายและมีรสอร่อยเช่นกับกาลของคนในปฐมกัป บาปกรรมของเขาถึงมีอยู่ จะชื่อว่า ห้ามกาลสมบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนผู้ใดอาศัยการประกอบโดยชอบ เลี้ยงชีพอยู่ แต่เข้าหาในเวลาที่ควรจะต้องเข้าหา ถอยกลับในเวลาที่ควรจะต้องถอยกลับ หนีในเวลาที่ควรจะต้องหนี ให้สินบนในเวลาที่ควรให้สินบน ทำโจรกรรมในเวลาที่ควรทำโจรกรรม บาปกรรมของคนเช่นนี้ ชื่อว่าห้ามปโยคสมบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนบาปกรรมของบุคคลผู้เกิดในทุคติภพ ชื่อว่าอาศัยคติวิบัติให้ ผลอยู่.
               ส่วนผู้ใดเกิดในท้องของหญิงทาสี หรือหญิงกรรมกร มีผิวพรรณไม่งดงาม รูปร่างไม่สวย ชวนให้เกิดสงสัยว่าเป็นยักษ์หรือเป็นมนุษย์ ถ้าเขาเป็นชาย คนทั้งหลายจะคิดว่า คนผู้นี้ไม่สมควรแก่งานอย่างอื่น แล้วจะให้เขาเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงโค หรือให้หาหญ้าหาฟืน ให้เทกระโถน ถ้าเป็นหญิง คนทั้งหลายจะใช้ให้ต้มข้าวต้มถั่ว๑- ให้ช้างให้ม้าเป็นต้น ให้เทหยากเยื่อ หรือใช้ให้ทำงานที่น่ารังเกียจอย่างอื่น. บาปกรรมของผู้เห็นปานนี้ ชื่อว่าอาศัยอุปธิวิบัติให้ผล.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ภตฺตมํสาทีนิ ฉบับพม่าเป็น ภตฺตมาสาทีนิ แปลตามฉบับพม่า.

               ส่วนผู้ใดเกิดในเวลาข้าวยากหมากแพง ในเวลาตระกูลเสื่อมสิ้นสมบัติ หรือในอันตรกัป บาปกรรมของผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยกาลวิบัติให้ผล.
               ส่วนผู้ใดไม่รู้จักประกอบความเพียร ไม่รู้เพื่อจะเข้าไปหาในเวลาที่ควรเข้าไปหา ฯลฯ ไม่รู้เพื่อจะทำโจรกรรมในเวลาที่ควรทำโจรกรรม บาปกรรมของผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยปโยควิบัติให้ผล.
               ส่วนผู้ใด เมื่อกรรมที่สมควรแก่การเสวยอิฎฐารมณ์เป็นกิจ ยังมีอยู่นั่นแลไปเกิดในทุคติภพ กรรมของเขานั้น ชื่อว่าห้ามคติวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนผู้ใดเกิดในพระราชวัง หรือในเรือนของราชมหาอำมาตย์เป็นต้นด้วยอนุภาพแห่งบุญกรรม เป็นคนบอด เป็นคนง่าย เป็นคนกระจอก หรือว่าเป็นคนเปลี้ย คนทั้งหลายไม่ยอมให้ตำแหน่งแก่เขา เพราะเห็นว่า เขาไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งอุปราชเสนาบดีและขุนคลังเป็นต้น บุญของเขาตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าห้ามอุปธิวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนผู้ใดเกิดในหมู่มนุษย์ ในเวลาข้าวยากหมากแพง ในเวลาที่ (ตระกูล) เสื่อมสิ้นสมบัติแล้ว หรือในอันตรกัป กรรมดีของเขานั้น ชื่อว่าห้ามกาลวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               ส่วนผู้ใดไม่รู้เพื่อจะยังความเพียรให้เกิดขึ้น ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ กรรมดีของเขานั้น ชื่อว่าห้ามปโยควิบัติ ให้ผลก็หามิได้.
               แต่กรรมของผู้เกิดในสุคติภพด้วยกัลยาณกรรมนั้น ชื่อว่าอาศัยคติสมบัติให้ผล. คนทั้งหลายเห็นอัตภาพของผู้ที่เกิดในราชตระกูล หรือตระกูลของราชมหาอำมาตย์เป็นต้นถึงอุปธิสมบัติ คือดำรงอยู่ในความเพรียบพร้อมแห่งอัตภาพ เช่นเดียวกับรัตนโดรณ (เสาระเนียดแก้ว) ที่เขาตั้งไว้ที่เทพนคร เห็นว่า คนผู้นี้เหมาะสมกับตำแหน่งอุปราช เสนาบดีหรือตำแหน่งขุนคลังเป็นต้น ถึงเขาจะยังหนุ่ม ก็ย่อมให้ตำแหน่งเหล่านั้น. กัลยาณธรรมของคนเห็นปานนี้ ชื่อว่าอาศัยอุปธิสมบัติให้ผล.
               ผู้ใดเกิดในปฐมกัปก็ดี ในเวลาที่ข้าวน้ำหาได้ง่ายก็ดี กัลยาณกรรมของเขา ชื่อว่าอาศัยกาลสมบัติให้ผล.
               ผู้ใดไม่รู้ เพื่อการประกอบความเพียร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นและ กรรมของผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยปโยคสมบัติให้ผล.
               ท่านจำแนกกรรม ๑๖ อย่างตามปริยายแห่งพระอภิธรรมด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

               กรรม ๑๒ อย่างตามแนวแห่งปฏิสัมภิทามรรค               
               โดยปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านจำแนกกรรม ๑๒ อย่างไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ได้มีมาแล้ว ๑
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่ได้มีมาแล้ว ๑
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ยังมีอยู่ ๑
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่มีอยู่ ๑
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักมีมา ๑
                         กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักไม่มีมา ๑
                         กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็มีอยู่ ๑
                         กรรมมีอยู่ แต่กรรมวิบากไม่มี ๑
                         กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็จักมีมา ๑
                         กรรมมีอยู่ แต่กรรมวิบากจักไม่มีมา ๑
                         กรรมก็จักมี กรรมวิบากก็จักมี ๑
                         กรรมจักมีมา แต่วิบากกรรมจักไม่มี ๑

               อธิบายกรรม ๑๒ อย่างตามแนวแห่งปฏิสัมภิทามรรค               
               บรรดากรรม ๑๒ อย่างนั้น กรรมที่ประมวลมาในอดีต ได้วาระแห่งผลในอดีตนั่นเอง ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็ให้เกิดปฏิสนธิแล้ว ส่วนที่จะให้เกิดรูป ก็สามารถให้เกิดรูปขึ้น ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ได้มีมาแล้ว.
               ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบากที่จะให้ปฏิสนธิ ก็ไม่สามารถจะให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ไม่สามารถจะให้เกิดรูปได้ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่ได้มีมาแล้ว.
               ส่วนกรรมที่ประมวลมาแล้วในอดีต ได้วาระแห่งผลในปัจจุบันแล้ว ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็ให้เกิดปฏิสนธิแล้ว หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ให้เกิดรูปแล้วตั้งอยู่ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ยังมีอยู่.
               ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบากที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็ไม่สามารถจะให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ไม่สามารถให้เกิดรูปได้ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่มีอยู่
               ส่วนกรรมที่ประมวลมาในอดีตกาล จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคต ที่ให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักสามารถให้ปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูปก็จักสามารถให้เกิดรูป ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักมีมา.
               ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบากในอนาคต ที่ให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักไม่สามารถให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูปก็จักไม่สามารถให้เกิดรูปได้ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักไม่มีมา.
               ส่วนกรรมที่ประมวลมาในปัจจุบัน และจะได้วาระแห่งวิบากในปัจจุบันเหมือนกัน ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็มีอยู่.
               ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบากในปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า กรรมมี แต่กรรมวิบากไม่มี.
               ส่วนกรรมที่ประมวลมาในปัจจุบัน แต่จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคต ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็จักสามารถให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักให้เกิดรูป (ในอนาคต) ได้ ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็จักมีมา.
               ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักไม่สามารถให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักไม่สามารถให้เกิดรูป (ในอนาคต) ได้ ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ แต่ผลกรรมจักไม่มีมา.
               ส่วนกรรมที่จักประมวลมาในอนาคต จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคตเหมือนกัน ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็จักให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูปก็จักให้เกิดรูป ท่านกล่าวว่า กรรมก็จักมี กรรมวิบากก็จักมี.
               ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็จักไม่สามารถให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูปก็จักไม่สามารถให้เกิดรูปได้ ท่านกล่าวว่า กรรมจักมีมา แต่กรรมวิบากจักไม่มี.
               ตามปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านจำแนกกรรมไว้ ๑๒ อย่างด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               กรรม ๑๒ อย่างเหล่านี้ก็ดี กรรม ๑๖ อย่างข้างต้นก็ดี ที่จำแนกไว้แล้ว ย่อจากฐานะของตนลงมา กล่าวโดยปริยายแห่งสุตตันตะจะมี ๑๑ อย่างเท่านั้น. ถึงกรรมเหล่านั้นย่อจากกรรม ๑๑ อย่างนั้นแล้วจะเหลือเพียง ๓ อย่างเท่านั้น คือ ทิฎฐธรรมเวทนีกรรม ๑ อุปปัชชเวทนีกรรม ๑ อปรปริยายเวทนีกรรม ๑.
               กรรมเหล่านี้ไม่มีการก้าวก่ายกัน ย่อมตั้งอยู่ในฐานะของตนอย่างเดียว. เพราะว่า ถ้าหากทิฎฐธรรมเวทนียกรรมกลายเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม หรืออปรปริยายเวทนียกรรมไปไซร้ พระศาสดาคงไม่ตรัสว่า ทิฎฺเฐว ธมฺเม (ในปัจจุบันนี้เท่านั้น). แม้ถ้าว่า อุปปัชชเวทนียกรรมจักกลายเป็นทิฎฐธรรมเวทนียกรรม หรืออปรปริยายเวทนียกรรมไปไซร้ พระศาสดาคงไม่ตรัสว่า อุปปชฺเช วา (ในภพที่จะเกิดขึ้น).
               อนึ่ง หากอปรปริยายเวทนียกรรมจะกลายเป็นทิฎฐธรรมเวทนียกรรม หรืออุปปัชชเวทนียกรรมไป พระศาสนาก็คงไม่ตรัสว่า อปเร วา ปริยาเย (หรือในปริยายภพต่อไป).
               แม้ในสุกปักษ์ (กุศลกรรม) พึงทราบความโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               และพึงทราบวินิจฉัยในธรรมที่เป็นสุกปักษ์ ดังต่อไปนี้
               บทว่า โลเภ วิคเต ความว่า เมื่อความโลภปราศไปแล้ว คือดับแล้ว.
               บทว่า ตาลวตฺถุกตํ ความว่า ทำให้เป็นเหมือนต้นตาล. อธิบายว่า ทำให้ไม่งอกขึ้นมาอีก เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้ว.
               บทว่า อนภาวํ กตํ ความว่า กระทำไม่ให้มีในภายหลัง. อธิบายว่า กระทำโดยไม่ให้เกิดขึ้นอีก.
               บทว่า เอวสสุ ความว่า พึงเป็นอย่างนั้น.
               พึงทราบข้อเปรียบเทียบ ในบทว่า เอวเมว โข ดังต่อไปนี้
               กุศลกรรมและอกุศลกรรมพึงเห็นเหมือนพืช พระโยคาวจรพึงเห็นเหมือนบุรุษเอาไฟเผาพืชเหล่านั้น. มัคคญาณพึงเห็นเหมือนไฟ. เวลาที่กิเลสถูกมัคคญาณเผาไหม้ พึงเห็นเหมือนเวลาที่จุดไฟเผาพืช. เวลาที่พระโยคาวจรทำรากของขันธ์ ๕ ให้ขาดแล้วดำรงอยู่ พึงเห็นเหมือนเวลาที่บุรุษเผาพืชให้เป็นเขม่า. เวลาที่พระขีณาสพไม่ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เพราะดับขันธ์โดยที่ขันธ์ ๕ ซึ่งมีรากขาดแล้ว ไม่ปฏิสนธิต่อไป เพราะดับความสืบต่อแห่งอุปาทินนกสังขารได้แล้ว พึงทราบเหมือนเวลาที่พืชถูกเขาโปรยไปที่ลมแรงหรือลอยไปในแม่น้ำ ทำให้ไม่หวนกลับมาได้อีก.
               บทว่า โมหชํ วาปิ วิทฺทสุ๑- ความว่า ผู้ไม่รู้ (ทำกรรม) แม้ที่เกิดแต่โมหะ.
____________________________
๑- ปาฐะว่า โมหชํ วาปิ วิทฺทสุ ในบาลีและฉบับพม่าเป็น โมหชญฺจาปิวิทฺทสุ

               มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า
               เขาไม่รู้ คือเป็นอันธพาล ทำกรรมที่เกิดแต่โลภะบ้าง เกิดแต่โทสะบ้าง กรรมใดที่เขากระทำอยู่เช่นนี้ กระทำแล้ว น้อยก็ตาม มากก็ตาม.
               บทว่า อิเธว ตํ เวทนียํ ความว่า กรรมนี้เป็นกรรมที่คนพาลนั้นจะพึงได้เสวยในโลกนี้ คือในอัตภาพของตนนี้แหละ. อธิบายว่า กรรมนั้นจะให้ผลในอัตภาพของเขานั่นแหละ.๒-
____________________________
๒- ปาฐะว่า ตสฺเสว อตฺตภาเว จ วิปจฺจติ
    ฉบับพม่าเป็น ตสฺเสว ตํ อตฺตภาเว วิปจฺจติ แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า วตถํ อญญํ น วิชชติ ความว่า ไม่มีสิ่งอื่นเพื่อประโยชน์แก่การรับผลของกรรมนั้น. เพราะกรรมที่คนหนึ่งทำไว้ จะให้ผลในอัตภาพของอีกคนหนึ่งไม่ได้.๓-
____________________________
๓- ปาฐะว่า น หิ อญฺเญน กตํ กมมํ น อญฺญสฺส อตฺตภาเว วิปจฺจติ
    ฉบับพม่าเป็น น หิ อญฺเญน กตํ กมฺมํ อญฺญสฺส อตฺตภาเว วิปจฺจติ.

               บทว่า ตสฺมา โลภญฺจ โทสญฺจ โมหญฺจาปิ วิทฺทสุ ความว่า เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเป็นผู้รู้ คือเป็นผู้มีปัญญาได้แก่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ทำกรรมนั้น แยกประเภทมีกรรมเกิดแต่ความโลภเป็นต้น ภิกษุนั้นผู้ยังวิชชาให้เกิดขึ้นอยู่ พึงละทุคติทุกอย่างได้ คือเมื่อทำวิชชาคือพระอรหัตมรรค ให้เกิดขึ้น จะละทุคติทุกอย่างใด.
               นี้เป็นหัวข้อ (ตัวอย่าง) แห่งเทศนาเท่านั้น. ส่วนพระขีณาสพนั้น แม้สุคติก็ละได้ทั้งนั้น.
               แม้ในคำที่ตรัสไว้ว่า ตสฺมา โลภญฺจ โทสญฺจ ดังนี้ พึงทราบว่า ทรงแสดงถึงกรรมที่เกิดแต่โลภะ และเกิดแต่โทสะเหมือนกัน โดยหัวข้อคือโลภะและโทสะ.
               ทั้งในพระสูตร ทั้งในพระคาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสทั้งวัฎฎะและวิวัฎฎะไว้โดยประการดังกล่าวมาแล้วนี้แล.

               จบอรรถกถานิทานสูตรที่ ๔             
               ----------------------------------------------------- 



=======================

     โดยนัยของพระสุตตันตปิฎก   ตามข้อความในมโนรถปูรณี   อรรถกถา  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต   ปฐมปัณณาสก์  วรรคที่ ๔  นิทานสูตร  ซึ่ง ได้แสดงกรรม  ๑๑  คือแสดงโดยกาลของการให้ผล ๓  ได้แก่
- ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ ๑
- อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป ๑
- อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆไปนั้นอีก   ตราบใดที่สังสารวัฏยังไม่สิ้น ๑

อีกกรรมหนึ่ง คืออโหสิกรรม ซึ่งข้อความในมโนรถปุรนี  โดยปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านพระสารีบุตรจำแนกกรรม แม้อย่างอื่นไว้ ๑๒ ประการ มีข้อความว่า

๑. อโหสิ กมฺมํ  อโหสิ  กัมมวิปาโก
กรรมได้มีแล้ว คือ ได้กระทำแล้ว  ผลของกรรมได้มีแล้ว หมายความว่า  กรรมในสังสารวัฏที่ได้ทำแล้ว ก็ได้ให้ผลไป
แล้ว  หมดไปแล้วกรรมนั้น เป็นอโหสิกรรม

๒.  อโหสิ  กมฺมํ นาโหสิ  กมฺมวิปาโก
กรรมในอดีตได้กระทำไปแล้ว แต่ผลของกรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผลในอดีต  คอยโอกาสที่จะให้ผลในชาตินี้หรือในชาติต่อๆไป

๓. อโหสิ  กมฺมํ อัตถิ กมฺมวิปาโก
กรรมนั้นได้กระทำแล้วในอดีต  ผลของกรรมนั้นมีอยู่ คือ ในปัจจุบันชาตินี้

๔. อโหสิ กัมมํ นัตถิ กัมมวิปาโก
กรรมที่ได้กระทำแล้ว  ๆ มาในสังสารวัฏ  ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติ แต่อาจจะให้ผลในชาติต่อไปได้

๕. อโหสิ  กมฺมํ ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติ   แต่ก็จักให้ผลในอนาคต เช่นคนที่เกิดมาทำแต่กุศล แต่ตายแล้วอาจไปเกิดในอบายภูมิ

๖. อโหสิ  กมฺมํ น ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมจักไม่มี เช่น ท่านพระองคุลีมาล กรรมที่ท่านได้กระทำไปแล้ว จักไม่ให้ผลในอนาคต เพราะท่านปรินิพพานแล้ว

๗. อตฺถิ กมฺมํ อตฺถิ กมฺมวิปาโก 
กรรมมีอยู่ ผลของกรรมมีอยู่ คือ กรรมปัจจุบันทำให้เกิดวิบากในปัจจุบัน 

๘. อตฺถิ กมฺมํ นตฺถิ กมฺมวิปาโก
กรรมในปัจจุบันที่ทำในชาตินี้ ยังไม่ทำให้เกิดวิบากในปัจจุบัน

๙. อตฺถิ กมฺมํ ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมที่ได้กระทำในปัจจุบัน ทำให้เกิดวิบากในอนาคต  ผลของกรรมจักมี ได้แก่ ประเภทของครุกรรม กรรมหนักที่ได้กระทำแล้วในปัจจุบันชาตินี้  เพราะฉะนั้นผลของกรรมจักมี จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นในอนาคตแน่นอน

๑๐. อตฺถิ กมฺมํ  น ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมมีอยู่ ผลของกรรมจักไม่มี เช่น ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิต   แต่ว่าฌานเสื่อม ขณะก่อนจุติเกิด ฌานจิตไม่เกิด ฌานนั้นไม่ได้ให้ผลในอนาคตที่จะนำเกิดในพรหมโลก

๑๑. ภวิสฺสติ กมฺมํ ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมจักมี  ผลของกรรมจักมี กรรมที่จะกระทำในอนาคต ก็จะทำให้เกิดวิบากในอนาคต

๑๒. ภวิสฺสติ กมฺมํ น ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก
กรรมจักมี ผลของกรรมจักไม่มี กรรมที่จะกระทำในอนาคต แต่จะไม่ทำให้เกิดวิบากในอนาคตเพราะปรินิพพานเสียก่อน

อ้างอิง
http://www.dhammahome.com/audio/printing/2342
http://www.dhammahome.com/audio/printing/2342

นิมิต  ชมนาวัง 20 ม.ค. 2014

Monday, April 22, 2013

ทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศล ใครได้รับ ?

     หลังไปทำบุญ ผมมักเตือนตนเองและคนในครอบครัวว่า อย่าลืมอุทิศให้ญาติ หรือคนรู้จัก ที่ล่วงลับไปแล้ว (สุนัขในบ้านที่ตายผมก็อุทิศให้) มีโอกาสก็บอกบุญให้คนอื่นทราบด้วยเพื่อเขาจะได้อนุโมทนาและได้บุญไปกับเราด้วย ปัญหามีว่า แล้วบุญที่เราอุทิศไปนั้น นอกจากเราผู้ทำและผู้ทราบข่าวแล้วอนุโมทนาจะได้รับโดยตรงแล้ว ผู้ล่วงลับที่เราอุทิศให้จะได้รับทุกคนหรือไม่ หรือว่าได้รับเฉพาะบางคน ? ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ? เรื่องนี้ข้อความใน ชาณุสโสณีสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต ( ดูพระสูตรเต็มที่ http://bit.ly/116qoXA ) โดยย่อกล่าวไว้ว่า

พราหมณ์ชาณุสโสณี (ชา.) ถามพระพุทธเจ้า (พ.) ว่า ทานที่เขาทำ ญาติจะได้บริโภคหรือไม่ ทรงตอบว่า ถ้าญาติที่ตายไปแล้วเกิดเป็น สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ หรือเทวดา ย่อมไม่ได้บริโภคทานที่เราอุทิศให้ เพราะสัตว์เหล่านั้นย่อมมีอาหารและของใช้ในภพที่ไปเกิดนั้น แต่ญาติที่เกิดเป็นเปรต (ปัจจุบันเราเรียกกันว่า ผี) ย่อมมีอาหารและของใช้ในภพเปรตนั้น และได้เพิ่มเติมตามที่มีผู้ทำบุญอุทิศให้ เรียกว่า ปัตติทาน พราหมณ์ถามว่า ถ้าไม่มีญาติเกิดเป็นเปรตใครจะได้รับผลของทานที่อุทิศให้ ทรงตอบว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีญาติที่เป็นเปรตเพราะทุกคนเคยเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วนย่อมยังมีญาติที่เป็นเปรต อย่างไรก็ตาม ตัวผู้ทำทานเองเมื่อตายไปเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ หรือเทวดา ย่อมได้รับผลจากทานที่ทำไว้เป็นอาหารและของใช้ที่ประณีตในภพที่ไปเกิดนั้น

ข้อความบางส่วนในพระสูตรมีดังนี้ :

พ.

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในนรกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรกนั้น ด้วยอาหารของสัตว์นรก ดูกรพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ ฯ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ดูกรพราหมณ์แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ ฯ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวก
มนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพในมนุษย์โลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในมนุษย์นั้นด้วยอาหารของมนุษย์ ดูกรพราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ ฯ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา ดูกรพราหมณ์ แม้ฐานะเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ ฯ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษย์โลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่
ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยปัตติทานมัยนั้น ดูกรพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ ฯ
  
ชา.
ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น ฯ
            
พ.
ดูกรพราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ที่เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น ฯ
            
ชา.
ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น ฯ

พ.
ดูกรพราหมณ์ ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะมิใช่โอกาสที่จะมีได้ อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล ฯ

ชา.
ท่านโคดมผู้เจริญ ย่อมตรัสกำหนดแม้ในอฐานะหรือ ฯ
พ.

ดูกรพราหมณ์ เรากล่าวกำหนดแม้ในอฐานะ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า
ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น

ดูกรพราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็น
สหายของช้างด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้นด้วยกรรมนั้น ฯ
            
ดูกรพราหมณ์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของม้า ... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค ... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดสุนัขนั้น

ดูกรพราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด บุคคลนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข ด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดสุนัขนั้น ด้วยกรรมนั้น ฯ

ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ เขาย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์ในมนุษย์โลกนั้น

ดูกรพราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ ด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าวน้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์ในมนุษย์โลกนั้น ด้วยกรรมนั้น ฯ
 
ดูกรพราหมณ์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมได้เบญจกามคุณ อันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น

ดูกรพราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกเทวดาด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นย่อมได้เบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น ด้วยกรรมนั้น

ดูกรพราหมณ์ แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล ฯ

ชา.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อที่แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผลนี้ เป็นของควรเพื่อให้ทานโดยแท้ เป็นของควรเพื่อกระทำศรัทธาโดยแท้ ฯ

พ.
ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนี้ๆ ดูกรพราหมณ์ แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล ฯ

ชา.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

=========

พิจารณาจากข้อความที่ยกมาข้างต้นได้ข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกดังนี้

1. บุคคลซึ่งเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ผู้นั้นเมื่อตายไปย่อมเกิดในสุขคติภูมิได้แก่ มนุษย์และเทวดา

2. บุคคลซึ่งเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิได้แก่ นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน

3. บุคคลซึ่งให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นเมื่อตายไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ หรือเทวดา ผู้นั้นย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ หรือเทวดา ตามภพภูมิของตน เช่นกรณี หมานั่งเบนซ์ นอนห้องแอร์ รับมรดกร้อยล้าน ฯลฯ
  
4. เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีญาติในอดีตอนันตชาติที่ยังคงเกิดเป็นเปรต ดังกรณีเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ยังคงติดตามพระเจ้าพิมพิสารมาขอส่วนบุญ แม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนานจนมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดมา คือ พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นแล้วในโลก Earth ใบนี้มี 4 พระองค์ เรียงตามลำดับได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระองค์ปัจจุบัน ส่วนที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต ก่อนที่โลก Earth ใบนี้จะถูกซุปเปอร์โนวาเผาเป็นจุณ ยังเหลืออีก 1 พระองค์คือ พระเมตไตรยพุทธเจ้า) ดังนั้น เมื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับแบบระบุชื่อแล้ว ควรอุทิศให้ "ญาติทั้งหลาย" ด้วยครับ

นิมิต  ชมนาวัง
22 เมษายน 2556

Thursday, March 28, 2013

อาตาปี สัมปชาโน สติมา

     ท่านที่อ่านพระไตรปิฎก คงจะได้พบข้อความ "อาตาปี สัมปชาโน สติมา" หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ" กระจายอยู่หลายแห่งหลายที่ โดยเฉพาะใน มหาสติปัฏฐานสูตร ดังข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็น กายในกาย (เวทนาในเวทนา / จิตในจิต / ธรรมในธรรม) อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

สัมปชาโน ท่านแปลว่า มีสัมปชัญญะ ในที่นี้คืออะไร เหมือนกันหรือไม่ กับคำว่า สัมปชัญญะ ในมหาสติปัฏฐาน หมวดกายานุปัสสนา สัมปชัญญบรรพ ที่ว่า

"ความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้"     

เย็นวันหนึ่งระหว่างขับรถทางไกล ผมเปิดวิทยุทหารอากาศ AM 945 kHz ฟังแนวทางเจริญวิปัสสนา(ชุดเทปวิทยุ) ครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ หัวข้อธรรมในวันนั้นเกี่ยวกับ "ปัญญา" มีข้อความที่แก้ความสงสัยในเรื่องความหมายของ สัมปชาโน ดังกล่าวข้างต้น ที่มีมานาน ผมจอดรถ จดข้อความลงบนเศษกระดาษใบเสร็จร้านสะดวกซื้อ แล้วใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ ไม่ทราบว่า อยู่ในนั้นนานแค่ไหนแล้ว วันนี้มีโอกาสได้เอามาดิจิไตซ์แปะไว้ที่นี่ครับ ข้อความมีว่า

"ปัญญา ชื่อ สัมปชัญญะ เพราะ รู้อนิจจัง"

ที่แท้ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ก็คือ มีความเพียร มีปัญญารู้อนิจจัง มีสติ นั่นเองครับ ซึ่งต่างกันกับคำว่า สัมปชัญญะ ที่หมายถึง ความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ฯลฯ

 
นิมิต  ชมนาวัง
28 มีนาคม 2556

สาธยาย มหาสติปัฏฐานสูตร

[ยังตรวจทานไม่เสร็จ]

http://bit.ly/15YqWQN

==============
มหาสติปฏฺฐานสุตฺตํ
==============
[๒๗๓]
เอวมฺเม สุตํ ฯ

เอกํ สมยํ ภควา กุรูสุ วิหรติ กมฺมาสทมฺมํ นาม กุรูนํ นิคโม ฯ

ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ภิกฺขโวติ ฯ

ภทนฺเตติเต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ฯ

ภควา เอตทโว จ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา
โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส
อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ

กตเม จตฺตาโร ฯ

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ฯ

[๒๗๔]
กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา
อุชุํ กายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา ฯ

โส สโต ว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ
ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ทีฆํ อสฺสสามีติ ปชานาติ
ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต ทีฆํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ
รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต รสฺสํ อสฺสสามีติ ปชานาติ
รสฺสํ วา ปสฺสสนฺโต รสฺสํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ

สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ สพฺพกายปฏิสํเวที
ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ
สิกฺขติ ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ฯ

เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ทกฺโข ภมกาโร วา ภมการนฺเตวาสี วา
ทีฆํ วา อญฺฉนฺโต ทีฆํ อญฺฉามีติ ปชานาติ
รสฺสํ วา อญฺฉนฺโต รสฺสํ อญฺฉามีติ ปชานาติ

เอวเมว โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ
ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ทีฆํ อสฺสสามีติ ปชานาติ
ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต ทีฆํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ
รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต รสฺสํ อสฺสสามีติ ปชานาติ
รสฺสํ วา ปสฺสสนฺโต รสฺสํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ

สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
สพฺพกายปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๗๕]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ
ฐิโต วา ฐิโตมฺหีติ ปชานาติ
นิสินฺโน วา นิสินฺโนมฺหีติ ปชานาติ
สยาโน วา สยาโนมฺหีติ ปชานาติ ฯ

ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถานํ ปชานาติ ฯ
อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ
อนิสฺสิโต จ วิหรติ
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ
เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๗๖]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต สมฺปชานการี โหติ
อาโลกิเต วิโลกิเต สมฺปชานการี โหติ
สมฺมิญฺชิเต ปสาริเต สมฺปชานการี โหติ
สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ สมฺปชานการี โหติ
อสิเต ปีเต ขายิเต สายิเต สมฺปชานการี โหติ
อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม สมฺปชานการี โหติ
คเต ฐิเต นิสินฺเน สุตฺเต ชาคริเต ภาสิเต ตุณฺหีภาเว สมฺปชานการี โหติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๗๗]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อิมเมว กายํ อุทฺธํ ปาทตลา อโธ เกสมตฺถกา
ตจปริยนฺตํ ปูรนฺนานปฺปการสฺส อสุจิโน ปจฺจเวกฺขติ

อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย
เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มํสํ นหารู
อฏฺฐี อฏฺฐิมิญฺชํ วกฺกํ หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ
อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ
เสโท เมโท อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆาณิกา ลสิกา มุตฺตนฺติ ฯ

เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว อุภโตมุขา มูโต ฬี ปูรา นานาวิหิตสฺส ธญฺญสฺส เสยฺยถีทํ
สาลีนํ วีหีนํ มุคฺคานํ มาสานํ ติลานํ ตณฺฑุลานํ
ตเมนํ จกฺขุมา ปุริโส มุญฺจิตฺวา ปจฺจเวกฺเขยฺย

อิเม สาลี อิเม วีหี อิเม มุคฺคา อิเม มาสา อิเม ติลา อิเม ตณฺฑุลาติ
เอวเมว โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิมเมว กายํ อุทฺธํ ปาทตลา อโธ เกสมตฺถกา
ตจปริยนฺตํ ปูรนฺนานปฺปการสฺส อสุจิโน ปจฺจเวกฺขติ

อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ
มํสํ นหารู อฏฺฐี อฏฺฐิมิญฺชํ วกฺกํ หทยํ ยกนํ กิโลมกํ
ปิหกํ ปปฺผาสํ อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ
เสโท เมโท อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆาณิกา ลสิกา มุตฺตนฺติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๗๘]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิมเมว กายํ ยถาฐิตํ ยถาปณิหิตํ ธาตุโส ปจฺจเวกฺขติ
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตูติ ฯ

เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว
ทกฺโข โคฆาตโก วา โคฆาตกนฺเตวาสี วา
คาวึ วธิตฺวา จาตุมฺมหาปเถ วิลโส ปฏิวิภชิตฺวา นิสินฺโน อสฺส

เอวเมว โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อิมเมว กายํ ยถาฐิตํ ยถาปณิหิตํ ธาตุโส ปจฺจเวกฺขติ
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตูติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๗๙]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
เอกาหมตํ วา ทฺวีหมตํ วา ตีหมตํ วา อุทฺธุมาตกํ วินีลกํ วิปุพฺพกชาตํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา ฯ

กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ  น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๐]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
กาเกหิ วา ขชฺชมานํ
กุลเลหิ วา ขชฺชมานํ
คิชฺเฌหิ วา ขชฺชมานํ
สุวาเนหิ วา ขชฺชมานํ
สิคาเลหิ วา ขชฺชมานํ
วิวิเธหิ วา ปาณกชาเตหิ ขชฺชมานํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ
อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๑]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิสงฺขลิกํ สมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ
อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๒]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิสงฺขลิกํ นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ นหารุสมฺพนฺธํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ
อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๓]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิสงฺขลิกํ อปคตมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๔]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิกานิ อปคตนหารุสมฺพนฺธานิ 
ทิสาวิทิสาวิกฺขิตฺตานิ

อญฺเญน หตฺถฏฺฐิกํ
อญฺเญน ปาทฏฺฐิกํ
อญฺเญน ชงฺฆฏฺฐิกํ
อญฺเญน อูรุฏฺฐิกํ
อญฺเญน กฏฏฺฐิกํ
อญฺเญน ปิฏฺฐฏฺฐิกํ
อญฺเญน กณฺฏกฏฺฐิกํ
อญฺเญน ผาสุกฏฺฐิกํ
อญฺเญน อุรฏฺฐิกํ
อญฺเญน อํสฏฺฐิกํ
อญฺเญน พาหุฏฺฐิกํ
อญฺเญน คีวฏฺฐิกํ
อญฺเญน หนุกฏฺฐิกํ
อญฺเญน ทนฺตฏฺฐิกํ
อญฺเญน สีสกฏาหํ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๕]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิกานิ เสตานิ สงฺขวณฺณสนฺนิภานิ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

[๒๘๖]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิกานิ ปุญฺชกิตานิ เตโรวสฺสิกานิ ฯ

โส อิมเมว กายํ อุปสํหรติ
อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ

อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ
สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ

อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ

อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ

เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ

youtube 46:18

[๒๘๗]
ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ
อฏฺฐิกานิ ปูตีนิ จุณฺณกชาตานิ ฯ

โส อิมเมว กายํ
อุปสํหรติ อยมฺปิ โข กาโย เอวํธมฺโม เอวํภาวี เอวํอนตีโตติ ฯ
อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา กาเย
กายานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ
วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ฯ อตฺถิ กาโยติ
วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย
ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก
อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯ
นวสีวถิกาปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ
กายานุปสฺสนา นิฏฺฐิตา ฯ

@ ๑ สี. ยุ. สงฺขวณฺณูปนิภานิ ฯ ม. สงฺขวณฺณปฏิภาคานิ ฯ

[๒๘๘] กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ ฯ
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สุขํ วา เวทนํ เวทยมาโน สุขํ เวทนํ เวทยามีติ
ปชานาติ ทุกฺขํ วา เวทนํ เวทยมาโน ทุกฺขํ เวทนํ เวทยามีติ
ปชานาติ อทุกฺขมสุขํ วา เวทนํ เวทยมาโน อทุกฺขมสุขํ เวทนํ
เวทยามีติ ปชานาติ สามิสํ วา สุขํ เวทนํ เวทยมาโน สามิสํ
สุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ นิรามิสํ วา สุขํ เวทนํ เวทยมาโน
นิรามิสํ สุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ สามิสํ วา ทุกฺขํ เวทนํ
เวทยมาโน สามิสํ ทุกฺขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ นิรามิสํ
วา ทุกฺขํ เวทนํ เวทยมาโน นิรามิสํ ทุกฺขํ เวทนํ เวทยามีติ
ปชานาติ สามิสํ วา อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทยมาโน สามิสํ
อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ นิรามิสํ วา อทุกฺขมสุขํ
เวทนํ เวทยมาโน นิรามิสํ อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ ฯ
อิติ อชฺฌตฺตํ วา เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา
เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา เวทนาสุ
เวทนานุปสฺสี วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา เวทนาสุ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา เวทนาสุ วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา
เวทนาสุ วิหรติ ฯ อตฺถิ เวทนาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา
โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ เวทนาสุ
เวทนานุปสฺสี วิหรติ ฯ
เวทนานุปสฺสนา นิฏฺฐิตา ฯ

[๒๘๙] กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ ฯ
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ
วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ สโทสํ วา
จิตฺตํ สโทสํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตโทสํ วา จิตฺตํ วีตโทสํ
จิตฺตนฺติ ปชานาติ สโมหํ วา จิตฺตํ สโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ
วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ สงฺขิตฺตํ วา
จิตฺตํ สงฺขิตฺตํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วิกฺขิตฺตํ วา จิตฺตํ วิกฺขิตฺตํ
จิตฺตนฺติ ปชานาติ มหคฺคตํ วา จิตฺตํ มหคฺคตํ จิตฺตนฺติ
ปชานาติ อมหคฺคตํ วา จิตฺตํ อมหคฺคตํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ
สอุตฺตรํ วา จิตฺตํ สอุตฺตรํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ อนุตฺตรํ วา
จิตฺตํ อนุตฺตรํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ สมาหิตํ วา จิตฺตํ สมาหิตํ
จิตฺตนฺติ ปชานาติ อสมาหิตํ วา จิตฺตํ อสมาหิตํ จิตฺตนฺติ
ปชานาติ วิมุตฺตํ วา จิตฺตํ วิมุตฺตํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ อวิมุตฺตํ
วา จิตฺตํ อวิมุตฺตํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ ฯ อิติ อชฺฌตฺตํ วา
จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี
วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี
วา จิตฺตสฺมึ วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี วา จิตฺตสฺมึ
วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา จิตฺตสฺมึ วิหรติ ฯ อตฺถิ
จิตฺตนฺติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย
ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก
อุปาทิยติ ฯ เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ ฯ
จิตฺตานุปสฺสนา นิฏฺฐิตา ฯ

[๒๙๐] กถญฺจ [๑]- ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ฯ
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ นีวรเณสุ ฯ
กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ นีวรเณสุ ฯ
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺทํ อตฺถิ เม
อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺโทติ ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺทํ
นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺโทติ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส
กามจฺฉนฺทสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส
กามจฺฉนฺทสฺส ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ ปหีนสฺส
กามจฺฉนฺทสฺส อายตึ อนุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ฯ สนฺตํ
วา อชฺฌตฺตํ พฺยาปาทํ อตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ พฺยาปาโทติ ปชานาติ
อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ พฺยาปาทํ นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ พฺยาปาโทติ
ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส พฺยาปาทสฺส อุปฺปาโท โหติ
ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส พฺยาปาทสฺส ปหานํ โหติ
ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ ปหีนสฺส พฺยาปาทสฺส อายตึ อนุปฺปาโท
โหติ ตญฺจ ปชานาติ ฯ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ ถีนมิทฺธํ ๒- อตฺถิ
เม อชฺฌตฺตํ ถีนมิทฺธนฺติ ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ ถีนมิทฺธํ
นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ ถีนมิทฺธนฺติ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส
ถีนมิทฺธสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส
ถีนมิทฺธสฺส ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ ปหีนสฺส
ถีนมิทฺธสฺส อายตึ อนุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ฯ สนฺตํ วา
อชฺฌตฺตํ อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจํ อตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจนฺติ
ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจํ นตฺถิ เม
อชฺฌตฺตํ อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจนฺติ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส
อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ
อุปฺปนฺนสฺส อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจสฺส ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ
ยถา จ ปหีนสฺส อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจสฺส อายตึ อนุปฺปาโท โหติ
ตญฺจ ปชานาติ ฯ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ วิจิกิจฺฉํ อตฺถิ เม
อชฺฌตฺตํ วิจิกิจฺฉาติ ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ วิจิกิจฺฉํ
นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ วิจิกิจฺฉาติ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนาย
วิจิกิจฺฉาย อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ อุปฺปนฺนาย
วิจิกิจฺฉาย ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ ปหีนาย
วิจิกิจฺฉาย อายตึ อนุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ฯ อิติ
อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี
วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี
วา ธมฺเมสุ วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ ฯ
อตฺถิ ธมฺมาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว
ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติ มตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ
กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ นีวรเณสุ ฯ
นีวรณปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ
@ ๑ ม. สพฺพตฺถ ปน สทฺโท ทิสฺสติ ฯ ๒ ม. ถินมิทฺธํ ฯ สพฺพตฺถ เอวํ ญาตพฺพํ ฯ

[๒๙๑] ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ฯ กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ฯ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อิติ รูปํ อิติ รูปสฺส สมุทโย อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม อิติ
เวทนา อิติ เวทนาย สมุทโย อิติ เวทนาย อตฺถงฺคโม อิติ
สญฺญา อิติ สญฺญาย สมุทโย อิติ สญฺญาย อตฺถงฺคโม
อิติ สงฺขารา อิติ สงฺขารานํ สมุทโย อิติ สงฺขารานํ อตฺถงฺคโม
อิติ วิญฺญาณํ อิติ วิญฺญาณสฺส สมุทโย อิติ วิญฺญาณสฺส
อตฺถงฺคโมติ ฯ อิติ อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ
วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี
วา ธมฺเมสุ วิหรติ ฯ อตฺถิ ธมฺมาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา
โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ
วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว
ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ฯ
ขนฺธปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ

[๒๙๒] ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมาปสฺสี วิหรติ
ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ฯ กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ฯ
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ จกฺขุญฺจ ปชานาติ รูเป จ ปชานาติ ยญฺจ
ตทุภยํ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ สญฺโญชนํ ๑- ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ
อนุปฺปนฺนสฺส สญฺโญชนสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ
ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส สญฺโญชนสฺส ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ
ยถา จ ปหีนสฺส สญฺโญชนสฺส อายตึ อนุปฺปาโท โหติ ตญฺจ
ปชานาติ ฯ โสตญฺจ ปชานาติ สทฺเท จ ปชานาติ ฯ ฆานญฺจ
ปชานาติ คนฺเธ จ ปชานาติ ฯ ชิวฺหญฺจ ปชานาติ รเส จ
ปชานาติ ฯ กายญฺจ ปชานาติ โผฏฺฐพฺเพ จ ปชานาติ ฯ
มนญฺจ ปชานาติ ธมฺเม จ ปชานาติ ยญฺจ ตทุภยํ ปฏิจฺจ
อุปฺปชฺชติ สญฺโญชนํ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส
สญฺโญชนสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ
อุปฺปนฺนสฺส สญฺโญชนสฺส ปหานํ โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ
ปหีนสฺส สญฺโญชนสฺส อายตึ อนุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ จ
อิติ อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี
วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี
วา ธมฺเมสุ วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ ฯ
อตฺถิ ธมฺมาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว
ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ
กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ฯ
อายตนปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ

@ ๑ ม. สํโญชนํ ฯ เอวมุปริปิ ฯ
[๒๙๓] ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
สตฺตสุ โพชฺฌงฺเคสุ ฯ กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี
วิหรติ สตฺตสุ โพชฺฌงฺเคสุ ฯ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สนฺตํ วา
อชฺฌตฺตํ สติสมฺโพชฺฌงฺคํ อตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ สติสมฺโพชฺฌงฺโคติ
ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ สติสมฺโพชฺฌงฺคํ นตฺถิ เม
อชฺฌตฺตํ สติสมฺโพชฺฌงฺโคติ ปชานาติ ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส
สติสมฺโพชฺฌงฺคสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ ปชานาติ ยถา จ
อุปฺปนฺนสฺส สติสมฺโพชฺฌงฺคสฺส ภาวนาปาริปูริ ๑- โหติ ตญฺจ
ปชานาติ ฯ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ ธมฺมวิจยสมฺโพชฺฌงฺคํ ฯเปฯ
สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ วิริยสมฺโพชฺฌงฺคํ ฯเปฯ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ
ปีติสมฺโพชฺฌงฺคํ ฯเปฯ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ ปสฺสทฺธิสมฺโพชฺฌงฺคํ ฯเปฯ
สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ สมาธิสมฺโพชฺฌงฺคํ ฯเปฯ สนฺตํ วา
อชฺฌตฺตํ อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคํ อตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺโคติ
ปชานาติ อสนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคํ
นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺโคติ ปชานาติ ยถา จ
อนุปฺปนฺนสฺส อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคสฺส อุปฺปาโท โหติ ตญฺจ
ปชานาติ ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคสฺส
ภาวนาปาริปูริ โหติ ตญฺจ ปชานาติ ฯ อิติ อชฺฌตฺตํ วา
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี
วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ วยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ
วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ ฯ อตฺถิ ธมฺมาติ
วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย
ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก
อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี
วิหรติ สตฺตสุ โพชฺฌงฺเคสุ ฯ
โพชฺฌงฺคปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ
ปฐมภาณวารํ ฯ

@ ๑ ม. สพฺพตฺถ ภาวนาปาริปูรี ฯ

[๒๙๔] ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
จตูสุ อริยสจฺเจสุ ฯ กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ จตูสุ อริยสจฺเจสุ ฯ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิทํ
ทุกฺขนฺติ ยถาภูตํ ปชานาติ อยํ ทุกฺขสมุทโยติ ยถาภูตํ ปชานาติ
อยํ ทุกฺขนิโรโธติ ยถาภูตํ ปชานาติ อยํ ทุกฺขนิโรธคามินี
ปฏิปทาติ ยถาภูตํ ปชานาติ [๑]- ฯ
กตมญฺจ ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ฯ
ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ
ทุกฺขา อปฺปิเยหิ สมฺปโยโคปิ ทุกฺโข ปิเยหิ
วิปฺปโยโคปิ ทุกฺโข ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ สงฺขิตฺเตน
ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ฯ

@ ๑ ม. ปฐมภาณวาโร นิฏฺฐิโต ฯ

[๒๙๕] กตมา จ ภิกฺขเว ชาติ ฯ ยา เตสํ เตสํ สตฺตานํ
ตมฺหิ ตมฺหิ สตฺตนิกาเย ชาติ สญฺชาติ โอกฺกนฺติ นิพฺพตฺติ ๑-
อภินิพฺพตฺติ ขนฺธานํ ปาตุภาโว อายตนานํ ปฏิลาโภ อยํ วุจฺจติ
ภิกฺขเว ชาติ ฯ กตมา จ ภิกฺขเว ชรา ฯ ยา เตสํ เตสํ สตฺตานํ
ตมฺหิ ตมฺหิ สตฺตนิกาเย ชรา ชีรณตา ขณฺฑิจฺจํ ปาลิจฺจํ วลิตจตา ๒-
อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ชรา ฯ
กตมญฺจ ภิกฺขเว มรณํ ฯ ยา ๓- เตสํ เตสํ สตฺตานํ ตมฺหา ตมฺหา
สตฺตนิกายา จุติ จวนตา เภโท อนฺตรธานํ มจฺจุ มรณํ กาลกิริยา
ขนฺธานํ เภโท กเฬวรสฺส นิกฺเขโป ชีวิตินฺทฺริยสฺส อุปจฺเฉโท อิทํ
วุจฺจติ ภิกฺขเว มรณํ ฯ กตโม จ ภิกฺขเว โสโก ฯ โย โข ภิกฺขเว
อญฺญตรญฺญตเรน พฺยสเนน สมนฺนาคตสฺส อญฺญตรญฺญตเรน
ทุกฺขธมฺเมน ผุฏฺฐสฺส โสโก โสจนา โสจิตตฺตํ อนฺโตโสโก
อนฺโตปริโสโก อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว โสโก ฯ กตโม จ ภิกฺขเว
ปริเทโว ฯ โย โข ภิกฺขเว อญฺญตรญฺญตเรน พฺยสเนน สมนฺนาคตสฺส
อญฺญตรญฺญตเรน ทุกฺขธมฺเมน ผุฏฺฐสฺส อาเทโว ปริเทโว อาเทวนา
ปริเทวนา อาเทวิตตฺตํ ปริเทวิตตฺตํ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปริเทโว ฯ
@ ๑ ม. อยํ ปาโฐ นตฺถิ ฯ ๒ วลิตฺตจตาติปิ ปาโฐ ฯ ๓ ม. ยํ ฯ
กตมญฺจ ภิกฺขเว ทุกฺขํ ฯ ยํ โข ภิกฺขเว กายิกํ ทุกฺขํ กายิกํ
อสาตํ กายสมฺผสฺสชํ ทุกฺขํ อสาตํ เวทยิตํ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว
ทุกฺขํ ฯ กตมญฺจ ภิกฺขเว โทมนสฺสํ ฯ ยํ โข ภิกฺขเว เจตสิกํ
ทุกฺขํ เจตสิกํ อสาตํ มโนสมฺผสฺสชํ ๑- ทุกฺขํ อสาตํ เวทยิตํ อิทํ
วุจฺจติ ภิกฺขเว โทมนสฺสํ ฯ กตโม จ ภิกฺขเว อุปายาโส ฯ
โย โข ภิกฺขเว อญฺญตรญฺญตเรน พฺยสเนน สมนฺนาคตสฺส
อญฺญตรญฺญตเรน ทุกฺขธมฺเมน ผุฏฺฐสฺส อายาโส อุปายาโส
อายาสิตตฺตํ อุปายาสิตตฺตํ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว อุปายาโส ฯ
กตโม [๒]- จ ภิกฺขเว อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข ฯ อิธ ยสฺส เต
โหนฺติ อนิฏฺฐา อกนฺตา อมนาปา รูปา สทฺทา คนฺธา รสา
โผฏฺฐพฺพา [๓]- เย วา ปนสฺส โหนฺติ อนตฺถกามา อหิตกามา
อผาสุกกามา อโยคกฺเขมกามา เตสํ ๔- สงฺคติ สมาคโม สโมธานํ
มิสฺสีภาโว อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข ฯ
กตโม จ ภิกฺขเว ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข ฯ อิธ ยสฺส เต
โหนฺติ อิฏฺฐา กนฺตา มนาปา รูปา สทฺทา คนฺธา รสา โผฏฺฐพฺพา
เย วา ปนสฺส โหนฺติ อตฺถกามา หิตกามา ผาสุกกามา โยคกฺเขมกามา
มาตา วา ปิตา วา ภาตา วา ภคินี วา มิตฺตา วา อมจฺจา
วา ญาติสาโลหิตา วา เตสํ อสงฺคติ อสมาคโม อสโมธานํ
อมิสฺสีภาโว อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข ๒- ฯ

@ ๑ เจโตสมฺผสฺสชนฺติ วา ปาโฐ ฯ ๒-๒ ยุ. อิเม ปาฐา นตฺถิ ฯ ๓ ม. ธมฺมา ฯ
@ อิโต ปรํ อีทิสเมว ฯ ๔ ม. ยา เตหิ สทฺธึ สงฺคติ ... อิโต ปรํ อีทิสเมว ฯ

กตมญฺจ ภิกฺขเว ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ฯ ชาติธมฺมานํ
ภิกฺขเว สตฺตานํ เอวํ อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ อโห วต มยํ น
ชาติธมฺมา อสฺสาม น จ วต โน ชาติ อาคจฺเฉยฺยาติ น
โข ปเนตํ อิจฺฉาย ปตฺตพฺพํ อิทมฺปิ ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ
ทุกฺขํ ฯ ชราธมฺมานํ ภิกฺขเว สตฺตานํ ฯ พฺยาธิธมฺมานํ ภิกฺขเว
สตฺตานํ ฯ มรณธมฺมานํ ภิกฺขเว สตฺตานํ ฯ โสกปริเทวทุกฺข-
โทมนสฺสุปายาสธมฺมานํ ภิกฺขเว สตฺตานํ เอวํ อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ
อโห วต มยํ น โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสธมฺมา อสฺสาม
น จ วต โน โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา อาคจฺเฉยฺยุนฺติ
น โข ปเนตํ อิจฺฉาย ปตฺตพฺพํ อิทมฺปิ ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ
ตมฺปิ ทุกฺขํ ฯ กตเม จ ภิกฺขเว สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา
ทุกฺขา ฯ เสยฺยถีทํ รูปูปาทานกฺขนฺโธ ๑- เวทนูปาทานกฺขนฺโธ
สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขารูปาทานกฺขนฺโธ วิญฺญาณูปาทานกฺขนฺโธ
อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ฯ
อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ฯ

[๒๙๖] กตมญฺจ ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย ๒- อริยสจฺจํ ฯ ยายํ ตณฺหา
โปโนพฺภวิกา ๓- นนฺทิราคสหคตา ตตฺรตตฺราภินนฺทินี เสยฺยถีทํ
กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา ฯ

@ ๑ ม. รูปุปาทานกฺขนฺโธ ... วิญฺญาณุปา ... ฯ ๒ ม. ทุกฺขสมุทยํ ฯ ๓ สี. ยุ. โปโนภวิกา ฯ

[๒๙๗] สา โข ปเนสา ภิกฺขเว ตณฺหา กตฺถ อุปฺปชฺชมานา
อุปฺปชฺชติ กตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ
เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา
นิวิสติ ฯ กิญฺจ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ ฯ จกฺขุํ โลเก ปิยรูปํ
สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ
นิวิสมานา นิวิสติ ฯ โสตํ โลเก ฯ ฆานํ โลเก ฯ ชิวฺหา
โลเก ฯ กาโย โลเก ฯ มโน โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ
รูปา โลเก ฯ สทฺทา โลเก ฯ คนฺธา โลเก ฯ รสา โลเก ฯ
โผฏฺฐพฺพา โลเก ฯ ธมฺมา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ
จกฺขุวิญฺญาณํ โลเก ฯ โสตวิญฺญาณํ โลเก ฯ ฆานวิญฺญาณํ โลเก ฯ
ชิวฺหาวิญฺญาณํ โลเก ฯ กายวิญฺญาณํ โลเก ฯ มโนวิญฺญาณํ
โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ
เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ จกฺขุสมฺผสฺโส โลเก ฯ โสตสมฺผสฺโส
โลเก ฯ ฆานสมฺผสฺโส โลเก ฯ ชิวฺหาสมฺผสฺโส โลเก ฯ
กายสมฺผสฺโส โลเก ฯ มโนสมฺผสฺโส โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ
จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ โสตสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ
ฆานสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ ชิวฺหาสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ
กายสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ มโนสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก
ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ
เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ รูปสญฺญา โลเก ฯ สทฺทสญฺญา
โลเก ฯ คนฺธสญฺญา โลเก ฯ รสสญฺญา โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพสญฺญา
โลเก ฯ ธมฺมสญฺญา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ
รูปสญฺเจตนา โลเก ฯ สทฺทสญฺเจตนา โลเก ฯ คนฺธสญฺเจตนา
โลเก ฯ รสสญฺเจตนา โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพสญฺเจตนา โลเก ฯ
ธมฺมสญฺเจตนา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา
อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ รูปตณฺหา โลเก ฯ
สทฺทตณฺหา โลเก ฯ คนฺธตณฺหา โลเก ฯ รสตณฺหา โลเก ฯ
โผฏฺฐพฺพตณฺหา โลเก ฯ ธมฺมตณฺหา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ
เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา
นิวิสติ ฯ รูปวิตกฺโก โลเก ฯ สทฺทวิตกฺโก โลเก ฯ คนฺธวิตกฺโก
โลเก ฯ รสวิตกฺโก โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพวิตกฺโก โลเก ฯ
ธมฺมวิตกฺโก โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา
อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา นิวิสติ ฯ รูปวิจาโร โลเก ฯ
สทฺทวิจาโร โลเก ฯ คนฺธวิจาโร โลเก ฯ รสวิจาโร โลเก ฯ
โผฏฺฐพฺพวิจาโร โลเก ฯ ธมฺมวิจาโร โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ
เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ เอตฺถ นิวิสมานา
นิวิสติ ฯ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ฯ

[๒๙๘] กตมญฺจ ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ ๑- อริยสจฺจํ ฯ โย
@ ๑ ม. ทุกฺขนิโรธํ ฯ
ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ
อนาลโย ฯ สา โข ปเนสา ภิกฺขเว ตณฺหา กตฺถ ปหียมานา
ปหียติ กตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ ยํ โลเก ปิยรูปํ
สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา
นิรุชฺฌติ ฯ กิญฺจ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ ฯ จกฺขุํ โลเก
ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ
นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ โสตํ โลเก ฯ ฆานํ โลเก ฯ ชิวฺหา
โลเก ฯ กาโย โลเก ฯ มโน โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ รูปา
โลเก ฯ สทฺทา โลเก ฯ คนฺธา โลเก ฯ รสา โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพา
โลเก ฯ ธมฺมา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา
ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ จกฺขุวิญฺญาณํ
โลเก ฯ โสตวิญฺญาณํ โลเก ฯ ฆานวิญฺญาณํ โลเก ฯ
ชิวฺหาวิญฺญาณํ โลเก ฯ กายวิญฺญาณํ โลเก ฯ มโนวิญฺญาณํ
โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ
เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ จกฺขุสมฺผสฺโส โลเก ฯ
โสตสมฺผสฺโส โลเก ฯ ฆานสมฺผสฺโส โลเก ฯ ชิวฺหาสมฺผสฺโส
โลเก ฯ กายสมฺผสฺโส โลเก ฯ มโนสมฺผสฺโส โลเก ปิยรูปํ
สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา
นิรุชฺฌติ ฯ จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ โสตสมฺผสฺสชา เวทนา
โลเก ฯ ฆานสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ ชิวฺหาสมฺผสฺสชา เวทนา
โลเก ฯ กายสมฺผสฺสชา เวทนา โลเก ฯ มโนสมฺผสฺสชา เวทนา
โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ
เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ รูปสญฺญา โลเก ฯ สทฺทสญฺญา
โลเก ฯ คนฺธสญฺญา โลเก ฯ รสสญฺญา โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพสญฺญา
โลเก ฯ ธมฺมสญฺญา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา
ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ
รูปสญฺญเจตนา โลเก ฯ สทฺทสญฺเจตนา โลเก ฯ คนฺธสญฺเจตนา
โลเก ฯ รสสญฺเจตนา โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพสญฺเจตนา โลเก ฯ
ธมฺมสญฺญเจตนา โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา
ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ รูปตณฺหา
โลเก ฯ สทฺทตณฺหา โลเก ฯ คนฺธตณฺหา โลเก ฯ รสตณฺหา
โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพตณฺหา โลเก ฯ ธมฺมตณฺหา โลเก ปิยรูปํ
สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ
นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ รูปวิตกฺโก โลเก ฯ สทฺทวิตกฺโก โลเก ฯ
คนฺธวิตกฺโก โลเก ฯ รสวิตกฺโก โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพวิตกฺโก
โลเก ฯ ธมฺมวิตกฺโก โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา
ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ ฯ รูปวิจาโร
โลเก ฯ สทฺทวิจาโร โลเก ฯ คนฺธวิจาโร โลเก ฯ รสวิจาโร
โลเก ฯ โผฏฺฐพฺพวิจาโร โลเก ฯ ธมฺมวิจาโร โลเก ปิยรูปํ
สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา
นิรุชฺฌติ ฯ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ ฯ

[๒๙๙] กตมญฺจ ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ฯ
อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ
สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว
สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ ฯ กตมา จ ภิกฺขเว
สมฺมาทิฏฺฐิ ฯ ยํ โข ภิกฺขเว ทุกฺเข ญาณํ ทุกฺขสมุทเย ญาณํ
ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ อยํ วุจฺจติ
ภิกฺขเว สมฺมาทิฏฺฐิ ฯ กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาสงฺกปฺโป ฯ
เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป อพฺยาปาทสงฺกปฺโป อวิหึสาสงฺกปฺโป อยํ วุจฺจติ
ภิกฺขเว สมฺมาสงฺกปฺโป ฯ กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาวาจา ฯ
มุสาวาทา เวรมณี ปิสุณาย วาจาย เวรมณี ผรุสาย วาจาย
เวรมณี สมฺผปฺปลาปา เวรมณี อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว
สมฺมาวาจา ฯ กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมากมฺมนฺโต ฯ ปาณาติปาตา
เวรมณี อทินฺนาทานา เวรมณี กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมากมฺมนฺโต ฯ กตโม จ ภิกฺขเว
สมฺมาอาชีโว ฯ อิธ ภิกฺขเว อริยสาวโก มิจฺฉาอาชีวํ ปหาย
สมฺมาอาชีเวน ชีวิกํ กปฺเปติ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาอาชีโว ฯ
กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาวายาโม ฯ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อนุปฺปนฺนานํ
ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปฺปาทาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ
วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ
อกุสลานํ ธมฺมานํ ปหานาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ
จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ
อุปฺปาทาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ
ปทหติ อุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ ฐิติยา อสมฺโมสาย
ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลาย ภาวนาย ปาริปูริยา ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ
วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ ฯ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว
สมฺมาวายาโม ฯ กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาสติ ฯ อิธ ภิกฺขเว
ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ ฯเปฯ
จิตฺเต ฯเปฯ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี
สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ฯ อยํ วุจฺจติ
ภิกฺขเว สมฺมาสติ ฯ กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ฯ อิธ
ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ สวิตกฺกํ
สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ
วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส เอโกทิภาวํ
อวิตกฺกํ อวิจารํ สมาธิชํ ปีติสุขํ ทุติยํ ฌานํ ฯเปฯ ตติยํ ฌานํ
อุปสมฺปชฺช วิหรติ สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา
ปุพฺเพ ว โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา อทุกฺขมสุขํ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ
จตุตฺถํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ฯ อยํ วุจฺจติ
ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ฯ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา
อริยสจฺจํ ฯ อิติ อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ
พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ
วยธมฺมานุปสฺสี วา ธมฺเมสุ วิหรติ สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา
ธมฺเมสุ วิหรติ ฯ อตฺถิ ธมฺมาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา
โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตาย ฯ อนิสฺสิโต จ วิหรติ
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ฯ เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ
ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ จตูสุ อริยสจฺเจสุ ฯ
สจฺจปพฺพํ นิฏฺฐิตํ ฯ
ธมฺมานุปสฺสนา นิฏฺฐิตา ฯ

[๓๐๐] โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน เอวํ
ภาเวยฺย สตฺต วสฺสานิ ตสฺส ทฺวินฺนํ ผลานํ อญฺญตรํ ผลํ
ปาฏิกงฺขํ ทิฏฺเฐ ว ธมฺเม อญฺญา สติ วา อุปาทิเสเส อนาคามิตา ฯ
ติฏฺฐนฺตุ ภิกฺขเว สตฺต วสฺสานิ ฯ โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร
สติปฏฺฐาเน เอวํ ภาเวยฺย ฉ วสฺสานิ ฯ ปญฺจ วสฺสานิ ฯ จตฺตาริ
วสฺสานิ ฯ ตีณิ วสฺสานิ ฯ เทฺว วสฺสานิ ฯ เอกํ วสฺสํ ฯเปฯ
ติฏฺฐตุ ภิกฺขเว เอกํ วสฺสํ ฯ โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร
สติปฏฺฐาเน เอวํ ภาเวยฺย สตฺต มาสานิ ตสฺส ทฺวินฺนํ ผลานํ
อญฺญตรํ ผลํ ปาฏิกงฺขํ ทิฏฺเฐ ว ธมฺเม อญฺญา สติ วา
อุปาทิเสเส อนาคามิตา ฯ ติฏฺฐนฺตุ ภิกฺขเว สตฺต มาสานิ ฯ โย หิ
โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน เอวํ ภาเวยฺย ฉ มาสานิ ฯ
ปญฺจ มาสานิ ฯ จตฺตาริ มาสานิ ฯ ตีณิ มาสานิ ฯ เทฺว
มาสานิ ฯ เอกํ มาสํ ฯ อทฺธมาสํ ๑- ฯเปฯ ติฏฺฐตุ ภิกฺขเว
อทฺธมาโส ฯ โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน
เอวํ ภาเวยฺย สตฺตาหํ ตสฺส ทฺวินฺนํ ผลานํ อญฺญตรํ ผลํ
ปาฏิกงฺขํ ทิฏฺเฐ ว ธมฺเม อญฺญา สติ วา อุปาทิเสเส อนาคามิตา ๒- ฯ
เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ
สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย
พฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานาติ ฯ อิติ
ยนฺตํ วุตฺตํ อิทเมตํ ปฏิจฺจ วุตฺตนฺติ ฯ อิทมโวจ ภควา ฯ
อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุนฺติ ฯ
มหาสติปฏฺฐานสุตฺตํ นิฏฺฐิตํ นวมํ ฯ

====================
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร (๒๒)
====================

[๒๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัส

เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส

พระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและ

ปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติ

ปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ

โทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน

โลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณา

เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ

จบอุทเทสวารกถา

[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไป

สู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้

ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อ

หายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร

หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือก

กลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจ

เข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจ

เข้าสั้น ย่อมสำเนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง

หายใจเข้า ย่อมสำเนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ดัง

พรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายใน

กายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็

เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบอานาปานบรรพ

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อ

นอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม

พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอก

บ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้ง

ความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสัก

ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล

ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบอิริยาปถบรรพ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้

เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและ

ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม

พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอก

บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้ง

ความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสัก

ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล

ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบสัมปชัญญบรรพ

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่

สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม

หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย

น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่ว

เขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าว เปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา

นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่

สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม

หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย

น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามา ฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ

ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่

ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่

ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบปฏิกูลมนสิการบรรพ

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็น

ธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโค แล้ว แบ่งออกเป็นส่วน

นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ

โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย

ภายในบ้าง ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบธาตุมนสิการบรรพ

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง

สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า

ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายใน

กายภายในบ้าง ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนก

ตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็ก ๆ ต่าง ๆ กัด

กินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็น

อย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ

ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่

ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ใน

โลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและ

เลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

[๒๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ

แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ

และเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

[๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูก ปราศจากเส้น

เอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง

กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไป

ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคาง

ไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า

ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายใน

กายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็น

ธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้ง

ความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึก

เท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบ

ด้วยสีสังข์ ฯลฯ

[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่

แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป ฯลฯ

[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว

เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้

ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย

ในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็

เพียงสักว่าความรู้เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบนวสีวถิกาบรรพ
จบกายานุปัสสนา

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา หรือ เสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือ เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือ เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือ เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯ

จบเวทนานุปัสสนา

[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯ

จบจิตตานุปัสสนา

[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันท์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง พยาบาทที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อยู่ ฯ

จบนีวรณบรรพ

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ อุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ฯ

จบขันธบรรพ

[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะภายในและภายนอก ๖ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะภายในและภายนอก ๖ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป และรู้จักนัยน์ตาและรูปทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ภิกษุย่อมรู้จักหู รู้จักเสียง ... ภิกษุย่อมรู้จักจมูก รู้จักกลิ่น ... ภิกษุย่อมรู้จักลิ้น รู้จักรส ... ภิกษุย่อมรู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ... ภิกษุย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ และรู้จักใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะภายในและภายนอก ๖ อยู่ ฯ

จบอายตบรรพ

[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ

อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังพรรณนาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้างพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อยู่ ฯ

จบโพชฌงคบรรพ
จบภาณวารที่หนึ่ง

[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิดความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนัง เป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่าชรา ฯ ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้ เรียกว่าโสกะ ฯ ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนา ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้ สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ
ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ

[๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน ตัณหานี้ใด อันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฯ

[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตกเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯ

[๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ

[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ
สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ
สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ
สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ
สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ
สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่งเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ
สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขเธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ ฯ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้างพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ฯ

จบสัจจบรรพ
จบธัมมานุปัสสนา

[๓๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ...๒ ปี ... ๑ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ๑ ปียกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี ๑ ๗ เดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใด อย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็น พระอนาคามี ๑ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฉะนี้แล คำที่เรากล่าว ดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัยเอกายนมรรคกล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ยินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนี้แล ฯ

จบมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ ๙